Thailand Web Stat

รัฐเตรียมดัน กม.ไซเบอร์ คุมโซเชียลก่อนเลือกตั้ง ยึดคอมพ์-มือถือ ไม่ต้องใช้หมายศาล

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตรียมดันกฎหมายไซเบอร์ เข้า สนช. ก่อนเดือนตุลาคม คุมโซเชียลมีเดียช่วงการเลือกตั้ง หวั่นลิดรอนเสรีภาพประชาชน

กม.ไซเบอร์ ก่อนเลือกตั้ง

          จากประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตามองกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  กำลังเร่งผลักดันกฎหมาย "พ.ร.บ.ไซเบอร์" โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อใช้ในการควบคุมเนื้อหาใน Social Media โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกฎหมายติดหนวดให้อำนาจเจ้าหน้าที่เกินไปหรือไม่

          ซึ่งล่าสุด วันที่ 16 ตุลาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เสร็จแล้ว และมีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นโดยอยู่ในขั้นตอนของการปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่รับฟังความคิดเห็นมา และจะนำเสนอ ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผลักดันให้เข้าคอร์สก่อนเดือนตุลาคม เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายควบคุมการใช้โซเชียลมีเดีย

          แต่ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ ครม. แต่งตั้งตามที่กระทรวงดีอี เสนอ 7 คน ได้พิจารณารายละเอียดแล้วไม่เห็นด้วยในเนื้อหาภาพรวม เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาตามมา จึงเตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ในสัปดาห์นี้ เพื่อขอให้ทบทวนเนื้อหาหลายประเด็น อาทิ คำนิยามภัยคุกคามทางไซเบอร์ หลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นำมาจากกฎหมายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของประเทศสิงคโปร์ มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองระบบทางไซเบอร์ หรือโครงสร้างทางไซเบอร์

          เนื่องจากร่างกฎหมายไซเบอร์ฉบับนี้ ขยายความคำว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ กว้างครอบคลุมไปถึงเนื้อหา ข้อความที่โพสต์ การเผยแพร่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ไอโฟน ไอแพด โทรศัพท์มือถือ ที่อาจมีสาระสำคัญกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต้องมุ่งเน้นคุ้มครองระบบทางไซเบอร์ หรือโครงสร้างทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์และตามหลักสากล ซึ่งต่างประเทศคุมที่ระบบ แต่กฎหมายนี้กลับคุมที่เนื้อหาด้วย

กม.ไซเบอร์ ก่อนเลือกตั้ง
          นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษก็คือ จะต้องมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช. ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีความเห็นว่า เนื้อหากฎหมายฉบับนี้ ให้อำนาจเลขาธิการ กปช. มากเกินไป ตั้งแต่เข้าตรวจสอบสถานที่ เข้าถึงทรัพย์สินสารสนเทศ ยึดคอมพิวเตอร์ ไอโฟน ไอแพด โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ใดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ทุกประเภท โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากศาล หรือกระบวนการยุติธรรม ต่างจากการตรวจค้น ยึดทรัพย์สินปกติ ที่จะต้องมีหมายเรียก หรือหมายค้นจากศาล หรือหน่วยงานยุติธรรม จึงดำเนินการได้

          ดังนั้นการให้อำนาจเลขาธิการ กปช. ล้นฟ้ามากเกินไป ย่อมขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของเลขาธิการ กปช. และไม่มีมาตรการอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กปช.

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐเตรียมดัน กม.ไซเบอร์ คุมโซเชียลก่อนเลือกตั้ง ยึดคอมพ์-มือถือ ไม่ต้องใช้หมายศาล อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2561 เวลา 13:13:27 3,927 อ่าน
TOP
x close