ยานสำรวจ New Horizons ของนาซา เคลื่อนที่ผ่าน Ultima Thule วัตถุเยือกแข็งในแถบไคเปอร์ เป็นการสำรวจที่ไกลที่สุดในระบบสุริยะ เหล่านักวิทยาศาสตร์ร่วมฉลองอย่างยินดี นับเป็นของขวัญวันปีใหม่ที่ดีที่สุด
วันที่ 2 มกราคม 2562 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซา (NASA)
ได้เปิดเผยข่าวดีรับปีใหม่
และเป็นข่าวที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของโลก
เมื่อ ยานสำรวจ นิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ได้เคลื่อนที่ผ่าน อัลทิมา
ธูล (Ultima Thule)
ก้อนวัตถุน้ำแข็งหรือดาวเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่โคจรอยู่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper
Belt) ได้ในระยะประชิด
อัลทิมา ธูล อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 6.5 พันล้านกิโลเมตร นับเป็นการสำรวจวัตถุในระบบสุริยะในระยะทางที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา และภารกิจครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจนำไปสู่การไขความลับของการกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีที่แล้ว
การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของ นิวฮอไรซอนส์ เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม 2549 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยหลังจากที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ ยานสำรวจลำนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 14 กิโลเมตรต่อวินาที มันเดินทางผ่านดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะ โฉบผ่านดาวเนปจูนในปี 2557 ผ่านดาวพลูโตในปี 2558 ก่อนจะมุ่งหน้าไปสู่เส้นขอบฟ้าใหม่ตามชื่อของมัน นั่นก็คือการไปสู่แถบไคเปอร์
แถบไคเปอร์มีลักษณะเป็นแถบคล้ายเข็มขัดหรือวงแหวนขนาดใหญ่
โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ในรอบนอกระบบสุริยะ
คล้ายคลึงกับแถบดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดี
ภายในแถบไคเปอร์เต็มไปด้วยวัตถุอวกาศมากมาย หนึ่งในนั้นคือ อัลทิมา ธูล

ยานนิวฮอไรซอนส์ ได้ส่งสัญญาณวิทยุกลับมายังโลก หลังจากเคลื่อนที่ผ่านอัลทิมา ธูล ในระยะ 3,500 กิโลเมตร ทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กิน ผู้พัฒนาและดูแลโปรเจกต์สำคัญนี้ ได้รวมตัวกันอยู่ที่รัฐแมริแลนด์ สหรัฐฯ เฝ้ารอความคืบหน้ากันอย่างใจจดใจจ่อ
สัญญาณใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง 8 นาที เสาอากาศขนาดใหญ่ขององค์การนาซาในกรุงมาดริด ประเทศสเปน สามารถจับสัญญาณนี้ได้เมื่อวันที่ 1 มกราคม เวลา 16.36 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 22.36 น. ตามเวลาประเทศไทย

นอกจากรายละเอียดทางวิศวกรรมแล้ว ยานนิวฮอไรซอนส์ ยังได้ส่งภาพถ่ายอัลทิมา ธูล กลับมาด้วย แม้ว่ามันจะเป็นภาพถ่ายที่ไม่ชัดเจน แต่มันก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณขนาดคร่าว ๆ ได้ นั่นก็คือมีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร กว้าง 15 กิโลเมตร

รูปร่างหน้าตาของ อัลทิมา ธูล จากภาพถ่ายชุดแรก
ภาพจาก pluto.jhuapl.edu
ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดจากยานนิวฮอไรซอนส์ คาดว่าจะส่งมาถึงโลกครบภายในเวลา 20 เดือน หรือในเดือนกันยายน 2563 และโลกก็กำลังตั้งตารอคอยอย่างตื่นเต้น