ชวนส่อง ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์ใกล้โลกสุดในรอบปี คืนมาฆบูชา 19 ก.พ. นี้

 
          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนประชาชนส่อง "ซูเปอร์ฟูลมูน" เก็บภาพดวงจันทร์ใกล้โลกสุดในรอบปี ในคืนวันมาฆบูชา 19 ก.พ. นี้

ซูเปอร์ฟูลมูน Super Full Moon วันมาฆบูชา

          วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ที่ระยะห่างประมาณ 356,836 กิโลเมตร โดยจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18.11 น. เป็นต้นไป

          การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงมากกว่าปกติเล็กน้อยเท่านั้น 

           นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ก็อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับดวงจันทร์เต็มดวงและใกล้โลกที่สุดในรอบปี ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 8 เมษายน 2563 ห่างประมาณ 357,022 กิโลเมตร


          สำหรับ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ นี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เชิญชวนประชาชนร่วมส่องจันทร์ดวงโตชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ และร่วมบันทึกภาพหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย

            - จ.เชียงใหม่ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (โทร. 053-121-268-9 ต่อ 305, 081-885-4353)
            - จ.ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา (โทร. 086-429-1489)
            - จ.นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (โทร. 084-088-2264)
            - จ.สงขลา ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา (โทร. 095-145-0411)

          นอกจากนี้ โรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ ยังร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ www.narit.or.th
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนส่อง ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์ใกล้โลกสุดในรอบปี คืนมาฆบูชา 19 ก.พ. นี้ อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 18:39:03 14,746 อ่าน
TOP
x close