x close

นักวิจัย สกว. ชี้แผ่นดินไหวลำปางเป็นสัญญาณอันตราย เตือนภาคเหนือเสี่ยงทุกพื้นที่

           นักวิจัยแผ่นดินไหว สกว. สำรวจความเสียหายแผ่นดินไหวลำปาง พบมีทั้งระดับเหลืองถึงแดง ขณะ ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าทีม ชี้ภาคเหนือมีความเสี่ยงทั้งหมด เพราะมีรอยเลื่อนฝังตัวใต้เปลือกโลกทุกที่
แผ่นดินไหวลำปาง
ภาพจาก Workpoint News

           จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 สร้างความแตกตื่นแก่ประชาชนและความเสียหายแก่บ้านเรือนบางส่วน โดยเฉพาะในตำบลทุ่งฮั้ว ที่เจดีย์วัดพระเกิด ตรงยอดฉัตรเอียง อีกทั้งยังพบความเสียหายในตำบลวังแก้ว ตำบลวังซ้าย และตำบลวังเหนือ ด้วยนั้น (อ่านข่าว : ลำปาง แผ่นดินไหวต่อเนื่อง ล่าสุด 6 โมงเช้า (21 ก.พ.) สรุปรวม 26 ครั้ง

           ล่าสุด (21 กุมภาพันธ์ 2562) Workpoint News รายงานว่า ผศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าโครงการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวประเทศไทยแบบบูรณาการข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในตำบลทุ่งฮั้ว เบื้องต้นพบว่า อาคารองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว ได้รับความเสียหายในส่วนกำแพงเท่านั้น ส่วนเสาและคานไม่เสียหาย

แผ่นดินไหวลำปาง
ภาพจาก Workpoint News

           ขณะที่บ้านเรือนของชาวบ้าน พบว่า มีบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง ได้รับความเสียหายที่บริเวณเสา อยู่ในระดับสีเหลือง ส่วนอาคารทั่วไปมีเสาเสียหายจนเห็นเหล็กภายในและอยู่ในระดับสีแดง 1 หลัง ซึ่งในภาพรวมแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่ประชาชนก็ควรอยู่นอกอาคารสักระยะหนึ่ง เพราะไม่ทราบว่าอาคารผนังจะเสียหายถึงขั้นถล่มลงมาหรือไม่ หากเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรง ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นถี่ในช่วงนี้

           ด้าน นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้วยเช่นกัน และได้สั่งการให้ทีมโยธาธิการจังหวัดลำปาง และวิศวกรรมอาสา มาสำรวจให้ครบถ้วนเพิ่มเติม รวมถึงสั่งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังด้วย

แผ่นดินไหวลำปาง
ภาพจาก Workpoint News

           ขณะที่ ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การเกิดอาฟเตอร์ช็อกถี่ ๆ เป็นเรื่องปกติ เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังของไทย จึงตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอีกเมื่อไร

           ดังนั้น ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จึงควรจะต้องมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ไว้ และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ควรจะตื่นตระหนกกันมากนัก

แผ่นดินไหวลำปาง
ภาพจาก Workpoint News

           ด้าน ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ระบุว่า โดยหลักวิชาการแล้ว แผ่นดินไหวขนาด 4.9 ถือว่าเริ่มเข้าสู่อันตราย เพราะใกล้เคียงกับขนาด 5.0 ที่ถือว่าอันตราย ส่วนสาเหตุที่คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนพะเยานั้น ตนคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่มักเชื่อมโยงแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงอาจเกิดนอกแนวรอยเลื่อนที่เรารู้จักก็เป็นได้

           ทั้งนี้ ตนไม่ได้ห่วงแค่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน แต่เป็นห่วงทั้งภาคเหนือ เพราะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา อย่างที่เคยเกิดขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2557 ซึ่งการเกิดที่ลำปางจึงทำให้ตนตระหนักได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดในพื้นที่ใดก็ได้ ไม่ใช่แค่ที่เชียงราย

           อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ การเสริมกำลังอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว ด้วยการเสริมก้านเหล็กพิเศษ หรือพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่อ่อนแอ และน่าเป็นห่วงที่สุดคือ โรงพยาบาลและโรงเรียน

แผ่นดินไหวลำปาง
ภาพจาก Workpoint News

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิจัย สกว. ชี้แผ่นดินไหวลำปางเป็นสัญญาณอันตราย เตือนภาคเหนือเสี่ยงทุกพื้นที่ อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14:38:04 13,055 อ่าน
TOP