นักวิชาการ เผยเหตุแผ่นดินไหว 4.9 ที่ลำปางคือสัญญาณบ่งบอกอันตราย ชี้ภาคเหนือของไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ทุกพื้นที่
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ข่าวเวิร์คพอยท์ มีรายงานว่า ผศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์
หัวหน้าโครงการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวประเทศไทยแบบบูรณาการข้อมูล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เปิดเผยหลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ หมู่ที่ 11
ตำบลทุ่งฮั้ว พบมีอาคารองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว
ได้รับความเสียหายในส่วนของกำแพงเท่านั้น ส่วนเสาและคานไม่ได้รับเสียหายใด ๆ
ด้านบ้านเรือนของชาวบ้านพบมีบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง
ได้รับความเสียหายที่บริเวณเสา อยู่ในระดับสีเหลือง
ส่วนอาคารทั่วไปมีเสาเสียหายจนเห็นเหล็กภายในและอยู่ในระดับสีแดง 1 หลัง
ขณะที่ ผศ.ดร. ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การเกิดอาฟเตอร์ช็อกถี่ ๆ จากเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดนี้ เป็นเรื่องปกติเพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังของไทย แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า 4.9 หรือไม่ จึงอยากฝากเตือนประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ควรต้องตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์แต่ก็ไม่ควรจะตื่นตระหนก
ด้าน ศ.ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า ตามหลักวิชาการแล้ว แผ่นดินไหวขนาด 4.9 ถือว่าเริ่มเข้าสู่อันตราย เพราะใกล้เคียงกับขนาด 5.0 ที่ถือว่าอันตราย และขนาด 6 ขึ้นไปถือว่าอันตรายมาก แต่สาเหตุที่คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนพะเยานั้น ตนเองคิดว่าอาจเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ ที่มักเชื่อมโยงแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนต่าง ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงอาจเกิดนอกแนวรอยเลื่อนที่เรารู้จักก็เป็นได้
ทั้งนี้
ตนเองเป็นห่วงประชาชาทั้งภาคเหนือ
เนื่องจากภาคเหนือมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา
อย่างที่เคยเกิดขึ้นและมีขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5
พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
จึงอยากเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจว่าพื้นที่ของตัวเองมีความเสี่ยง
ดังนั้นจึงต้องเสริมกำลังอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว
ด้วยการเสริมก้านเหล็กพิเศษ หรือพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น
ศ.ดร. เป็นหนึ่ง ทิ้งท้ายว่า ทีมวิจัยได้มีการทดลองเสริมกำลังให้กับอาคารเรียนไปแล้ว 4 หลัง และจะดำเนินการเพิ่มอีก 4 หลัง ซึ่งหากรัฐบาลเอาจริงเรื่องนี้ก็ควรทำเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเสริมกำลังอีกเพียงร้อยละ 15 ของงบก่อสร้าง เราก็จะได้อาคารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่เสียหายแล้วก็ทุบทิ้งสร้างใหม่ โดยอาคารที่อ่อนแอและน่าเป็นห่วงที่สุดคือ โรงพยาบาล และโรงเรียน
