x close

พ.ร.บ.ไซเบอร์ ผ่านแล้ว ไร้เสียงค้าน เปิดทางรัฐเข้าถึงข้อมูลไม่ต้องใช้หมายศาล

          สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติ ผ่าน พ.ร.บ.ไซเบอร์ ด้วยคะแนน 133 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย เปิดทางให้รัฐเข้าถึงข้อมูลกรณี กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ไม่ต้องใช้หมายศาล

          พ.ร.บ.ไซเบอร์
ภาพจาก amarintv.com 

          วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 อมรินทร์ ทีวี รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ?. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 133 เสียง, ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 16 เสียง โดยเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น จะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

           โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ไซเบอร์ คือ กำหนดมาตรการป้องกันรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยได้กำหนดภารกิจและบริการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ต้องมีการป้องกันรับมือ ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการประสานปฏิบัติการ รวมถึงแผนมาตรการการป้องกันและรับมือ 

           ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (กกม.) สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดำเนินการได้หลายประการ

           โดยเว็บไซต์ สปริงนิวส์ ให้ข้อมูลว่า ในร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ได้ให้อำนาจเลขาธิการ กมช. มีอำนาจขอความร่วมมือจากบุคคลให้มาให้ข้อมูล หรือทำข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามไซเบอร์ สามารถขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูล ที่อยู่ในการครอบครองของผู้อื่นได้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ รวมถึงสามารถสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องหรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่

           อย่างไรตาม กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับวิกฤต ให้ กมช. มอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากดำเนินการแล้วให้แจ้งรายละเอียดต่อศาลโดยเร็ว และในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤต ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของ กมช. สามารถขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและความสะดวกแก่ กมช. โดยเร็ว


**หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 22.50 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,  



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พ.ร.บ.ไซเบอร์ ผ่านแล้ว ไร้เสียงค้าน เปิดทางรัฐเข้าถึงข้อมูลไม่ต้องใช้หมายศาล อัปเดตล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 22:52:30 11,524 อ่าน
TOP