ด้วงงวงมะพร้าว ศัตรูร้ายเกษตรกร ฆ่ามะพร้าวเรียบ พบกินได้ มีคุณค่า ทำเมนูไหนก็แซ่บ

          กรมวิชาการเกษตร  เตือนเกษตรกรระวังด้วงงวงมะพร้าว ศัตรูตัวร้ายและภัยเงียบ ทำมะพร้าวตาย ทั้งนี้ พบเป็นอาหารโปรตีนสูง สามารถนำมาบริโภคได้ และปรุงได้หลายวิธี

          นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบศัตรูพืชที่ทำลายมะพร้าวหลายอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตมะพร้าวไม่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการ ทั้งโรค แมลง ไร สัตว์ศัตรูพืช และวัชพืช โดยเฉพาะด้วงงวงมะพร้าว สำหรับในประเทศไทย พบด้วงที่ทำลายมะพร้าวอยู่ 2 ชนิด คือ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ด้วงชนิดนี้จัดเป็นแมลงศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมะพร้าวมาก และทั้งสองชนิดทำลายมะพร้าวในจุดที่แตกต่างกันไป และสร้างความเสียหายร้ายแรงทั้งคู่

สำหรับพฤติกรรมของด้วงงวงมะพร้าวทั้งสองชนิดนั้น มีดังต่อไปนี้

1. ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก

          ด้วงงวงมะพร้าวชนิดนี้จะทำลายต้นมะพร้าว ด้วยการเจาะเข้าไปในลำต้น และยอดมะพร้าว ด้วงชนิดนี้มักทำลายตามรอยด้วงแรดมะพร้าว โดยจะวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้น บริเวณรอยแตกของเปลือก หรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะเอาไว้ เมื่อด้วงงวงมะพร้าวพบส่วนที่อ่อนของต้นมะพร้าว มันจะเจาะและวางไข่ หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว


          เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอาจไม่ทราบถึงการเข้าทำลายในระยะแรกเริ่ม เพราะมันเกิดขึ้นด้านใน มองไม่เห็น กว่าจะรับรู้ มะพร้าวก็ถูกทำลายรุนแรงจนอาการสาหัสแล้ว ทั้งอาการยอดเน่า รวมไปถึงลำต้นเป็นโพรง ทำให้ไม่สามารถรักษา หรือป้องกันได้ทัน โดยต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ ทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด และต้นมะพร้าวส่วนใหญ่ที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็กโจมตีมักจะตาย

2. ด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่


          ด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่เคยระบาดรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป จุดที่พบหนักคือ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยการทำลายของด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่จะเหมือนกับด้วงมะพร้าวชนิดเล็ก จะอาศัยกัดกินในต้นมะพร้าวตลอดอายุขัย จนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยภายในลำต้น ยากต่อการป้องกันกำจัด หากหนอนเข้าทำลายบริเวณยอด จะทำให้มะพร้าวตายอย่างรวดเร็ว


สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดด้วงงวงมะพร้าวที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำเกษตรกรให้ปฏิบัติตามนั้น มีดังนี้

          1. ป้องกันและกำจัดด้วงแรดมะพร้าวอย่าให้ระบาดในสวนมะพร้าว เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้จะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และเมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนแล้ว ตัวหนอนของด้วงงวงมะพร้าวก็จะเข้าไปทำลายในต้นมะพร้าวได้ง่าย


          2. ใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชัน ผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณแผลโคนต้นหรือลำต้นมะพร้าว เพื่อป้องกันการวางไข่

          3. ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ทำลาย ควรตัดโค่นทอนเป็นท่อนแล้วผ่าจับหนอนทำลาย ไม่ควรให้ต้นมะพร้าวเกิดแผลหรือปลูกโคนลอย เพราะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายในต้นมะพร้าวได้ หากลำต้นเป็นรอยแผล ควรทาด้วยน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชัน ผสมกับน้ำมันยาง เพื่อป้องกันการวางไข่


          4. ใช้คลอร์ไพริฟอส 40 เปอร์เซ็นต์ EC อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อ น้ำ 20 ลิตร หยอดตามรอยแผลหรือรูเจาะที่เกิดจากด้วงแรดมะพร้าว ถ้าพบตัวเต็มวัยของด้วงงวงมะพร้าวบริเวณรอบคอมะพร้าว ควรราดบริเวณบาดแผลที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน พร้อมอุดรูด้วยดินน้ำมันหรือดินเหนียว หรือใช้สารฆ่าแมลงฉีดเข้าไปในลำต้นมะพร้าว เช่นเดียวกับวิธีป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว

          อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดภายในสวน โดยไม่แน่ใจว่าเป็นแมลงศัตรูชนิดใด ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ ทั้ง 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจและให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้อง หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-7580 และ 0-2579-5583 ต่อ 133 และ 134


          อย่างไรก็ตาม พบว่าหนอนด้วงงวงมะพร้าว ยังเป็นอาหารที่นิยมรับประทานทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการวางจำหนายตามตลาดสดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ข้อมูลจากเวิร์คพอยท์นิวส์ ระบุว่า กษตรกรรายหนึ่งใน จ.พะเยา ได้หันมาทำธุรกิจเพาะด้วงงวงมะพร้าวขาย สร้างรายได้งาม กิโลกรัมละ 300-350 บาท

          ด้วงงวงมะพร้าวมีโปรตีนสูง สามารถนำไปกระกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้ง ต้ม ทอด แกง ยำ ผัด ฯลฯ เช่น ด้วงงวงมะพร้าวทอดกระเทียม ด้วงงวงมะพร้าวแช่น้ำปลา ด้วงงวงมะพร้าวผัดพริก ด้วงงวงมะพร้าวคั่วเกลือ ด้วงงวงมะพร้าวย่าง ต้มแซ่บด้วงงวงมะพร้าว ลาบด้วงงวงมะพร้าว และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการนำมารับประทาน แนะนำให้ผ่านกรรมวิธีปรุงสุก เพื่อความปลอดภัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ด้วงงวงมะพร้าว ศัตรูร้ายเกษตรกร ฆ่ามะพร้าวเรียบ พบกินได้ มีคุณค่า ทำเมนูไหนก็แซ่บ อัปเดตล่าสุด 10 เมษายน 2562 เวลา 16:27:29 23,882 อ่าน
TOP
x close