ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี 9 เดือน นายวันกษัตริย์ เจ้าชายกำมะลอ อ้างโตมาในวัง อ้าง ร.9 เป็นคนตั้งชื่อให้ และได้รับพระบรมราชานุญาต ให้สร้างครุฑ จำหน่ายประชาชน
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ไทยโพสต์ รายงานว่า เวลา 09.30 น.
ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีหมายเลขดำ อ.588/2559 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 8
เป็นโจทก์ฟ้องนายวันกษัตริย์ พรหมทอง หรืออดีตพระวันกษัตริย์ วชิรญาโณ อายุ
31 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
112, พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์
โดนคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2553 ถึง 15
กรกฎาคม 2555 จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายด้วยการดูหมิ่น แอบอ้างสถาบันเบื้องสูง
โดยการแอบอ้างกับพระวิเชียรกิตติสาโรว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9
ได้พระราชทานตั้งชื่อให้ตนเองว่า
"วันกษัตริย์" รวมถึงยังอ้างว่าเติบโตอยู่ในรั้วในวัง ได้รับพระราชทานสิ่งของ 5 อย่าง
ของกระทรวงมหาดไทย และได้รับพระบรมราชานุญาต
ให้สร้างครุฑแจกและจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยเหตุเกิดที่ ต.หินดาด
อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และที่ ต.ท่าพญา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
เกี่ยวพันกัน ซึ่งมีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4,13
พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 3, 6
ต่อมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 เห็นว่า
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม
ฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จำคุก 5 ปี
ฐานทำหรือใส่เครื่องหมายครุฑโดยไม่มีสิทธิ์ จำคุกกระทงละ 3 เดือน 3
กระทงเป็นจำคุก 9 เดือน รวมจำคุกจำเลยไว้ 5 ปี 9 เดือน และให้ริบของกลาง
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ และได้รับการประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์คดี
โดยวันนี้ (29 พฤษภาคม 2562)
ศาลได้ทำการเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาฟังคำพิพากษา
ระหว่างถูกคุมขังในคดีมีซากสัตว์ป่าสงวนคุ้มครองจำนวนมากไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. จับกุมได้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการฝากขัง
ทั้งนี้
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า
อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นแค่บางส่วน การที่จำเลยอ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการจัดสร้างเครื่องหมายครุฑพ่าห์
ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน จะทำโดยพลการไม่ได้
ส่วนความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง
จำเลยไม่ได้มีเจตนาชัดแจ้งในการดูหมิ่นเบื้องสูง เป็นเพียงการไม่สมควร
แอบอ้างหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือปกปิดความจริง
เพื่อแสวงประโยชน์หรือเพื่อให้ได้ซึ่งผลประโยชน์อันมิควรได้
เป็นลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
แม้โจทก์จะฟ้อง
ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แต่การกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องนั้น รวมการกระทำหลายอย่าง
แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดอยู่ในตัวแล้ว
ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจะลงโทษจำเลยในความผิดนั้นได้
พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลย ฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 343 วรรคแรก, ฐานทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์โดยไม่มีสิทธิ์
รวมจำคุกจำเลย 2 ปี 9 เดือน และยกฟ้องความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก