x close

ทลายโกดัง โบท็อกซ์ - ฟิลเลอร์ ปลอม ระบาดตามคลินิกหรู จนเคยมีคนนมเน่า

          ปูพรมค้น 12 จุด แหล่งนำเข้า โบท็อกซ์ - ฟิลเลอร์ ปลอม พบส่งขายคลินิกความงาม และขายออนไลน์ ยึดของกลาง 4 แสนชิ้น มูลค่า 80 ล้าน พบเงินหมุนเวียนกว่า 800 ล้าน


          วันที่ 13 มิถุนายน 2562 สปริงนิวส์ รายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่ายบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาละเมิดเครื่องหมายการค้า ในพื้นที่เป้าหมาย 12 จุด เป็นบ้านพักที่ใช้เป็นแหล่งพักสินค้า 

           การจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากในปี 2560 ได้มีการจับกุมการลักลอบค้าเครื่องสำอางและยาละเมิดเครื่องหมายการค้า ดีเอสไอจึงได้สืบสวนแกะรอยเส้นทางการเงินจนพบเบาะแสการกระทำความผิดของเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงเครือข่ายนำเข้าโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ปลอมรายใหญ่ จึงได้เข้าล่อซื้อ เมื่อชัดเจนว่าเป็นสินค้าปลอม จึงขอศาลออกหมายค้นทั้ง 12 จุดพร้อมกัน ยึดของกลางได้กว่า 400,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนหลังพบเงินหมุนเวียนในบัญชีสูงถึง 800 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอจะดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป

โบท็อกซ์ปลอม
ภาพจาก สปริงนิวส์

โบท็อกซ์ปลอม
ภาพจาก สปริงนิวส์

           ขบวนการนำเข้าฟิลเลอร์และโบท็อกซ์ปลอมรายนี้ เกี่ยวข้องกับคดีฉีดฟิลเลอร์จนหน้าอกเน่า โดยของกลางที่ยึดได้ มีโบท็อกซ์ที่เก็บรักษาอยู่ในตู้เย็นจำนวน 1,400 ชิ้น ราคาชิ้นละ 5,000 บาท ของกลาง 1 ตู้ มีมูลค่าถึง 7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังยึดเครื่องสำอางได้อีกหลายรายการ พบของกลางเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น ยาฉีดกลูตาไธโอน ยาฉีดสเต็มเซลล์ ยาฉีดรกแกะ ยาฉีดโบท็อกซ์ ยาฉีดลดไขมัน และยาชาที่จะใช้ก่อนฉีดโบท็อกซ์ เป็นต้น

          เครือข่ายดังกล่าวโฆษณาขายสินค้าผ่านอินสตาแกรมและไลน์ โดยจะนำสินค้าไปจำหน่ายให้ลูกค้าหลายกลุ่ม แบ่งเป็นคลินิกเสริมความงามของขบวนการและคลินิกเสริมความงามอื่น ๆ ที่กระจายอยู่ใน กทม. และยังมีการจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้ารายย่อยที่สั่งซื้อยาไปใช้เองและกลุ่มลูกค้าที่ซื้อยาไปรับจ้างฉีด โดยจะจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดทางไปรษณีย์เอกชน ทั้งนี้ ในวันเข้าจับกุมพบรถจักรยานยนต์รับจ้างมารอเพื่อนำสินค้าไปจัดส่งด้วย

โบท็อกซ์ปลอม
ภาพจาก สปริงนิวส์

          ทางตัวแทน อย. ได้กล่าวเตือนผู้บริโภคสาว ๆ อย่าหลงเชื่อโฆษณาในออนไลน์ อย่าซื้อยาไปใช้เอง หรือฉีดสารเสริมความงามกับหมอเถื่อน ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะการฉีดบนใบหน้าต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคบนใบหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากบนใบหน้ามีกล้ามเนื้อเล็ก ๆ และเส้นเลือดมากมาย จึงต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง ในส่วนของสถานเสริมความงามและคลินิก ก่อนสั่งซื้อยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ขอให้สอบถามไปทาง อย. ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตและเป็นตัวแทนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจริง

โบท็อกซ์ปลอม
ภาพจาก สปริงนิวส์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทลายโกดัง โบท็อกซ์ - ฟิลเลอร์ ปลอม ระบาดตามคลินิกหรู จนเคยมีคนนมเน่า อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2562 เวลา 12:08:38 83,883 อ่าน
TOP