ทช. ชี้เรือประมงไทยจับ โลมาปากขวด ขึ้นเรือ ฟ้องชัดด้วยภาพ ยังไงก็มีความผิด !

          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้เรือประมงไทยจับโลมาปากขวดขึ้นเรือ ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฟ้องชัดด้วยภาพ ไม่สามารถปฏิเสธได้

          จากกรณีผู้สื่อข่าวช่อง 7 เปิดเผยคลิปสุดสะเทือนใจจากผู้หวังดี ซึ่งเป็นคลิปของโลมาปากขวดที่ถูกเรือประมงจับติดอวนขึ้นมาบนเรือนับสิบตัว โดยลูกเรือประมงบางส่วนใช้เท้าเหยียบบ้าง บางส่วนใช้รอกชักโลมาขึ้นมาบนเรือและจับโยนลงทะเลบ้าง ซึ่งโลมาหลายตัวอยู่ในสภาพที่บอบช้ำใกล้ตาย และบางส่วนก็ตายแล้วนั้น

          ล่าสุด (15 กรกฎาคม 2562) ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับรายงานแล้วว่าเป็นเรือประมงไทยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเป็นเหตุการณ์ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้ประสานกับกรมประมง ซึ่งมีศูนย์ติดตามการกระทำผิดลงพื้นที่เพื่อติดตามหาเรือดังกล่าวแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะแค่ติดอวนมาแบบตั้งใจหรือไม่ แต่การนำโลมาปากขวดจำนวนหลายตัวขึ้นมาบนเรือ ถือว่ามีความผิดแล้ว เหมือนกรณีที่เคยมีเรือประมงเอาฉลามวาฬขึ้นมาบนเรือเมื่อปี 2561

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          เบื้องต้นหากเจอเรือประมง เจ้าของเรือจะถูกแจ้งความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เพราะเหตุการณ์ฟ้องชัดด้วยภาพ และไม่สามารถปฏิเสธได้ เข้าข่ายการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองคือโลมาปากขวด อีกทั้งยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประมง อีกข้อหาหนึ่งด้วย

          ดังนั้น จึงขอฝากเรือประมงทุกลำให้ช่วยกันดูแลสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเล ช่วยกันรักษาดีกว่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีของโลมา แต่ตอนนี้เจอปัญหาพะยูนเกยตื้นตายผิดปกติในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง โดยวันพรุ่งนี้ (16 กรกฎาคม) ได้รับมอบหมายจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ลงพื้นที่ไปพูดคุยวางมาตรการกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่และท้องถิ่น รวมทั้งหาสาเหตุที่แท้จริง

          ทางด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า ภายหลังจากได้ดูคลิปแล้วก็รู้สึกสงสารโลมาที่ไปติดอวนของชาวประมง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคลิปจากเรือประมงจำนวนมาก โดยเกือบทั้งหมดเป็นคลิปน่ารัก ๆ ที่ชาวประมงช่วยกันปล่อยฉลามวาฬ หรือเต่ามะเฟืองลงทะเล แต่คลิปนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับโลมา ซึ่งคงไม่ต้องถามถึงความรู้สึกของตนว่าเศร้าแค่ไหน

          อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ตนขอวิเคราะห์ตามภาพที่เห็นในคลิป ซึ่งอันดับแรก ตนไม่คิดว่าเป็นการตั้งใจจับโลมา แต่เป็นการติดมากับอวนมากกว่า เพราะปกติโลมามักจะชอบมาไล่กินปลาตามอวนเป็นประจำ โดยเฉพาะอวนล้อมจับปลาผิวน้ำ เช่น ปลาโอ หรือทูน่า จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก ทำให้ป้ายปลากระป๋องต้องเขียนไว้ว่า "Dolphin safe" เพื่อยืนยันว่านี่เป็นการจับภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรอิสระ ทว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำอันตรายโลมาเลย เพียงแต่ลดลงและมีการควบคุมมากขึ้นเท่านั้น

          โดย ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า หากมีโลมาติดอวนขึ้นมา ทางเลือกนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการที่บังเอิญจับสัตว์คุ้มครองที่ติดมากับอวน หากคนจับให้ความสำคัญกับสัตว์ก็รีบปล่อย แต่ถ้ายังเป็นห่วงปลาที่จับได้ ก็อาจค่อยหาทางภายหลัง ซึ่งจากภาพเท่าที่เห็น โลมาหลายตัวอยู่ในสภาพที่บอบช้ำ และบางตัวอาจใกล้ตาย หรือตายแล้ว

          ในทางกฎหมาย โลมาทุกชนิดถือเป็นสัตว์คุ้มครอง และพ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 มีโทษรุนแรงมากกว่าเดิมมาก ไม่ใช่แค่ปรับ 4 หมื่นบาท จำคุก 4 ปี อีกต่อไป โดยกรมประมงก็มีการออกประกาศ "สัตว์ห้ามนำขึ้นเรือประมง" ซึ่งรวมโลมาอยู่ด้วย และในประกาศมีหมายเหตุระบุว่า ยกเว้นกรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิต จึงต้องมาพิจารณากันต่อว่าภาพในคลิปดังกล่าวเป็นการช่วยชีวิตโลมาหรือไม่

          ฉะนั้น กรมประมงต้องเริ่มจากการตามหาว่าเรือดังกล่าวอยู่ที่ไหน เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อใด ฯลฯ ซึ่งจากระบบต่าง ๆ ที่สร้างมาเพื่อแก้ปัญหา IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) น่าจะช่วยได้ จากนั้นก็ต้องพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นตามกฎหมายต่อไป

          นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ตนอยากบอกชาวประมงส่วนน้อยว่าตอนนี้คนไทยให้ความสำคัญกับทะเลมากขึ้น กฎหมายรุนแรงขึ้น ระบบตรวจสอบดีขึ้น และกระแสสังคมก็แรงขึ้น จึงอยากให้มาช่วยกันดูแลทะเลมากกว่า เมื่อถึงเวลาต้องเลือก บางครั้งการเลือกปลาก่อนสัตว์หายากอาจทำให้เกิดผลอย่างคาดไม่ถึง

          ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายเกี่ยวกับสัตว์ทะเลเกิดขึ้นมากมาย เช่น ข่าวร้ายว่ามีพะยูนตายหลายตัว สลับมาเป็นข่าวดีจากฝูงฉลามที่เกาะห้อง และกลับมาเป็นข่าวแย่ที่มีโลมาติดอวนถูกโยนลงทะเล แต่อย่างน้อยที่สุด ตนก็ยังดีใจที่คนไทยสนใจทะเลกันมากขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยดูแลทะเลได้ จึงขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันส่งข่าวต่าง ๆ เข้ามาตลอด ตนจึงยังมีหวังที่จะทำให้ทะเลไทยดีขึ้น




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทช. ชี้เรือประมงไทยจับ โลมาปากขวด ขึ้นเรือ ฟ้องชัดด้วยภาพ ยังไงก็มีความผิด ! อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2562 เวลา 12:42:30 15,818 อ่าน
TOP
x close