แพทยสภาชี้ กินฉี่ อาจมีผลเสียต่อร่างกาย เผยปัสสาวะคือของเสียที่ร่างกายขับออก มีฤทธิ์เป็นกรด การดื่มปัสสาวะ เหมือนดื่มของเสียกลับเข้าไปหมุนเวียนในร่างกาย อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เฟซบุ๊ก แพทยสภา ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดื่มปัสสาวะ ที่กำลังถูกพูดถึงในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์เกรียง ตั้งสง่า ให้ข้อมูลระบุว่า การกินฉี่ตัวเอง ที่เรียกว่า Urophagia หรือ Urine Therapy มีตำนานความเชื่อมานับพันปีว่าสามารถใช้รักษาโรคบางอย่างได้ รวมไปถึงโรคมะเร็ง แต่ก็เป็นความเชื่อปรัมปรามากกว่าเป็นความจริง เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิชาการอะไรที่เชื่อถือได้มาสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ปัสสาวะมีน้ำมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักที่เหลือเป็นสารต่าง ๆ ที่ร่างกายขับออกมา การที่ต้องขับออก เพราะเป็นของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ และถ้าคั่งค้างในร่างกายก็จะเกิดผลเสีย ซึ่งส่วนประกอบในปัสสาวะมี 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. Metabolic Waste ที่เกิดจากการเผาผลาญของการสันดาป (Metabolism) ในร่างกาย ที่มากที่สุดคือ ยูเรีย จากการเผาผลาญสารโปรตีนและอะมิโน แอซิด นอกจากนี้ก็ยังมีกรดฟอสเฟต (Acid phosphate), สารประกอบซัลเฟต (Sulphate Compounds) จากการเผาผลาญโปรตีน ซึ่งมี Free H+ ออกมา
ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด มีกรดยูริกจากการสลายสารอาหารกลุ่มพิวรีน (Purine), สารประกอบคีโตน (Ketone Compounds) จากการสลายสารพวกไขมัน และมีกรดอินทรีย์ (Organic acid) อีกมากมาย เนื่องจากสารเหล่านี้มักมีคุณสมบัติเป็นกรด จึงมี Free H+ อยู่

และเนื่องจากคนเป็นสัตว์บก (Terrestrial animals) มีแอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic hormone) คอยดูดน้ำจากไตกลับเข้าสู่ระบบไหลเวียน ปัสสาวะจึงมีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำพอควร เพราะสรีรวิทยาของสัตว์บก จำเป็นจะต้องเก็บน้ำและเกลือโซเดียมไว้ในตัว เพื่อให้รักษาปริมาตรของการไหลเวียนโลหิตและปริมาณพลาสมาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ปริมาณของพลาสมาที่กรองผ่านระบบไต มีจำนวนถึง 140 ลิตรต่อวัน แต่มนุษย์มีน้ำปัสสาวะเพียง 1-2 ลิตรต่อวัน ซึ่งหมายความว่าอีก 138 ลิตรของน้ำ จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ระบบไหลเวียน แต่ของเสียจากน้ำพลาสมา 140 ลิตร จะมารวมอยู่ในน้ำปัสสาวะ 1-2 ลิตร ดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ ปัสสาวะจึงมีฤทธิ์กัดกร่อนมากพอควร ความเป็นกรดของปัสสาวะมีค่า pH ประมาณ 5-6.5 หากดื่มเข้าไปในช่วงท้องว่าง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อเยื่อบุผนังลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ซึ่งสังเกตได้จากผู้ป่วยที่ใส่ผ้าอ้อมที่เปียกชุ่มน้ำปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา ไม่นานก็จะเกิดแผลที่บริเวณก้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากแผลกดทับอย่างเดียว แต่เป็นผลจากการกัดกร่อนด้วยปัสสาวะที่หมักหมมในผ้าอ้อมด้วย

2. องค์ประกอบส่วนที่สองที่อาจมีคือ ยาหรืออนุพันธ์ของยาที่กินเข้าไป ยาชนิดละลายได้ในน้ำจะถูกขับออกจากร่างกายทางไต ส่วนยาชนิดละลายได้ในสารไขมันจะถูกขับทางตับ ซึ่งการดื่มปัสสาวะ จึงมีโอกาสได้รับสารของยากลับเข้าสู่ร่างกายอีก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีการสะสมของยาอยู่ในร่างกายมากเกินไป ตัวอย่างเช่น การตรวจยาเสพติด หรือยาโด๊ป ก็จะตรวจจากปัสสาวะ
3. ปัสสาวะอาจมีเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสอื่นปนเปื้อนออกมาได้ การดื่มน้ำปัสสาวะจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคเหล่านี้กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย
ทั้งนี้ การดื่มน้ำปัสสาวะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี ที่สำคัญคือ ทำให้มีการสะสมของของเสียที่ร่างกายขจัดทิ้งไปแล้ว กลับเข้าไปหมุนเวียนสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก แพทยสภา