แจ้งข้อหา ไต๋เรือ-ลูกน้อง ในคลิปฉาวเรือประมงใช้อวนล้อมจับ โลมา ล่าสุดเจ้าตัวรับสารภาพจับปลาโลมา 30 ตัว อ้างเอามาทำโลมาแดดเดียวรับประทาน
จากนั้น พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบช.กมค. ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จึงลงพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสืบสวนโดยได้ประสานงานกับกรมประมงและทางการมาเลเซีย พร้อมได้ทำการร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
โดยทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพร้อมแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาทั้งสองคนตาม พ.ร.ก.การประมง มาตรา 66 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ซึ่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ข้อ 2 กําหนดให้สัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนําขึ้นเรือประมง ซึ่งรวมถึงโลมา และวาฬทุกชนิด โดยการกระทำผิดดังกล่าวมีโทษตามมาตรา 145 มีโทษปรับตั้งแต่ 3 แสนบาท ถึง 3 ล้านบาท ตามจำนวนผู้ต้องหา
พล.ต.ท. จารุวัฒน์ กล่าวว่า ในชั้นสอบสวน นายธนัญชัยให้การรับสารภาพว่าเป็นไต๋เรือ ส่วนนายสันติ ผู้ช่วยไต๋เรือ ก็ได้รับว่าเป็นผู้ช่วยไต๋เรือลำที่เกิดเหตุจริง และผู้ต้องหาทั้งสองคนยังเป็นผู้สั่งการให้คนงานในเรือลำดังกล่าวเอาโลมาที่ติดอวนจำนวน 30 ตัว ขึ้นมาบนเรือจริง หลังจากนำขึ้นมาแล้วได้นำมาทำอาหาร ประมาณ 4 ตัว เป็นเนื้อแดดเดียว ส่วนปลาโลมาที่เหลือได้โยนทิ้งลงทะเลไป ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้พนักงานสอบสวนจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการเปรียบเทียบตาม พ.ร.ก.การประมง ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบผู้ต้องหาทั้งสองคนตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจะต้องถูกกักขังไม่เกิน 2 ปี