เปิดหลักฐานดีเอสไอ ยืนยันกระดูกที่พบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิ์ในที่ทำกิน หลังหายตัวไป 5 ปี ผล DNA ตรงกับของแม่ พร้อมเผยลำดับเหตุการณ์ขณะหายไป จนสุดท้ายกลายเป็นศพฆ่ายัดถัง
ภาพจาก อีจัน
จากกรณี นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แกนนำในการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเตรียมฟ้องร้องเจ้าหน้าที่กรณีการเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว เมื่อปี 2554 ต่อมาในปี 2557 บิลลี่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าปล่อยตัวบิลลี่มาแล้ว แต่จากวันนั้นก็ยังไม่มีใครเห็นบิลลี่อีกเลยนานกว่า 5 ปีแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ไทยพีบีเอส รายงานว่า พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยถึงผลการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานที่ค้นพบในเหตุการณ์การหายตัวของบิลลี่ ว่า วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้าย ซึ่งเป็นของมนุษย์ โดยมีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูก จากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
จากนั้น วันที่ 23-24 สิงหาคม เจ้าหน้าที่จึงได้ดำน้ำเพิ่มเติม และพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์อีก 20 ชิ้น โดยเป็นกระดูกมนุษย์ 8 ชิ้น ที่เหลือระบุไม่ได้เพราะมีลักษณะเล็ก แต่จุดสำคัญคือ กระดูกบริเวณศีรษะด้านท้ายทอยค่อนมาทางหู ถือเป็นส่วนสำคัญ ถ้าไม่อยู่ในร่างกายก็จะถือว่าเสียชีวิต กระดูกชิ้นนี้พบว่ามีรอยไหม้และรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกที่ความร้อน 200-300 องศาเซลเซียส
เจ้าหน้าที่พบจุดสำคัญคือ ผู้ก่อเหตุได้ทิ้งพยานหลักฐาน และรถจักรยานยนต์ของบิลลี่ที่หายไปบริเวณจุดที่พบถังน้ำมัน
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
ผลการตรวจสารพันธุกรรม กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้นำสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) แม่ของบิลลี่ มาเทียบกับวัตถุพยาน ชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะสภาพไม่สมบูรณ์ ลักษณะทางกายภาพเข้าได้กับลักษณะกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูก Petrous part ของกระดูก Temporal bone ด้านในข้างซ้าย
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
- ตรวจไม่พบสารพันธุกรรมโครโมโซมร่างกายจากกระดูก
- จากการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมในไมโทคอนเดรีย พบว่า รูปแบบสารพันธุกรรม มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน
- ผลการตรวจสารพันธุกรรม
- ชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะที่ตรวจสอบมีสภาพไม่สมบูรณ์ จากลักษณะทางกายภาพเข้าได้กับลักษณะกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูก Petrous part ของกระดูก Temporal bone ด้านในข้างซ้าย พบรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อน
- สภาพกระดูกผ่านการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส
โดยลำดับเหตุการณ์การหายตัวปริศนาของบิลลี่ เริ่มตั้งแต่
- 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หายตัวไปที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังมีข่าวว่าบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ควบคุมตัวไปสอบสวนโดยยังไม่ทราบสาเหตุ
- 18 เมษายน 2557 เวลา 06.00 น. คนในครอบครัวยืนยันว่า บิลลี่ยังไม่ได้กลับบ้านจนถึงเวลา 08.00 น. จากนั้นชาวบ้านได้ออกค้นหาจนถึงเวลา 20.00 น. ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย เข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน
โดยทางพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยาน นำตัวบิลลี่ไป และยอมรับว่าควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง โดยให้เหตุผลว่า บิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง จึงเรียกไปตักเตือนแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว
- 21 เมษายน 2557 น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมผู้แทนชาวกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด และ ผบภ.จว.เพชรบุรี ว่า นายชัยวัฒน์ ได้ทำการกักขังหน่วงเหนี่ยวบิลลี่ ซึ่งนายชัยวัฒน์ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวบิลลี่จริง แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว โดยมีน้องสาวบิลลี่เห็นบิลลี่หลังจากถูกปล่อยตัว
- 24 เมษายน 2557 ภรรยาของบิลลี่ พร้อมทนาย ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 โดยถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหวังว่าศาลจะช่วยให้ทราบได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ใด และหากยังคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา
- 2 กันยายน 2557 ศาลฎีกายกคำร้องในคดีอดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานที่ถูกกล่าวหา ตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 ควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
- 16 มกราคม 2560 ดีเอสไอแจ้งต่อภรรยาของบิลลี่ ว่า คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยมติดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมวันที่ 10 มิถุนายน 2559 โดยอ้างถึงเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ การสืบสวนยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อีกทั้งยังให้เหตุผลว่าภรรยาของบิลลี่ไม่มีสิทธิ์ในการยื่นเรื่องร้องเรียน เนื่องจากว่าไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย การสอบสวนของดีเอสไออาจจะกระทำได้หากมีการพบเจอร่างของบิลลี่เท่านั้น
- ต้นปี 2561 ดีเอสไอได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ และเริ่มสอบสวนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561
- 2 กันยายน 2562 ดีเอสไอเปิดเผยความคืบหน้าคดี โดยพบหลักฐานสำคัญคือ ถังน้ำมันที่ภายในพบกระดูกมนุษย์ ซึ่งคาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีการหายตัวไปของบิลลี่
- 3 กันยายน 2562 ดีเอสไอแถลงความคืบหน้าคดีบิลลี่
อ่านรายละเอียดจาก