คําขวัญวันครู 2568 พร้อมประวัติวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม


          วันครู 2568 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม วันครูแห่งชาติ กำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สอนสั่งอบรมวิชาให้เรา ซึ่งวันนี้เรามี คําขวัญวันครู 2568 เรียงความวันครู และประวัติวันครูแห่งชาติมาฝาก


วันครู

          เดือนมกราคมเวียนมาถึงอีกครั้ง บรรดานักเรียนทั้งหลายคงจำกันได้ดีว่า วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันครูแห่งชาติ ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สอนสั่งอบรมวิชาให้เรา วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักถึงความหมายของครู ประวัติวันครู ความเป็นมาเกี่ยวกับวันครู และคําขวัญวันครู 2568 พร้อมเรียงความวันครู มาฝาก 

 

ความหมายของครู 


          ครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึงความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้นนับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคนคนหนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน 

วันครู
ภาพจาก : vectorx2263 / Shutterstock.com   

ความสำคัญของครู 


          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใยและเสียสละเพื่อลูก นอกจากบิดามารดาแล้วก็มี ครู เป็นผู้มีพระคุณคล้ายบิดามารดา คือเป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละไม่แพ้บุพการี 

          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้การศึกษาเรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคม ประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง จึงกำหนดให้วันที่ 6 ตุลาคม เป็นวันครูสากล เพื่อยกย่องคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆ คนไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง 

ประวัติวันครูแห่งชาติ

          วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครู ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู 

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา 

          พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ในขณะนั้น ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า 

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะ เพราะเหตุว่าถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" 

วันครูแห่งชาติ

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครู เพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน 

          คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครู ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว 

          งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ 

คำขวัญวันครู

คำขวัญวันครู 2568 : รอคำขวัญปี 2568

คำขวัญวันครู 2567 : "ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์" (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี)

คำขวัญวันครู 2567
ภาพจาก : รัฐบาลไทย

คำขวัญวันครู 2566 : "ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2565 : "พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2564 : "ครูวิถีใหม่ ใส่ใจดิจิทัล สร้างสรรค์ คุณธรรม ประจำชาติ" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
 
คำขวัญวันครู 2563 : "ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2562 "ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2561 : "ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2560 : "ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้ง ในพระคุณครู" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2559 : "อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ" (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

คำขวัญวันครู 2558 : "เกียรติครูยิ่งใหญ่ น้อมใจบูชา เลิศล้ำคุณค่า ศรัทธาพระคุณ" (เด็กหญิงอนุสรา ชื่นบาล)

คำขวัญวันครู 2557 : "เทิดพระเกียรติทั่วหล้า กตัญญูบูชา แม่และครูแห่งแผ่นดิน" (นายธีธัช บรรณะทอง)

คำขวัญวันครู 2556 "แปดสิบพรรษา พระราชินี ราษฎร์รัฐภักดี ครูศรีแผ่นดิน" (นายสะอาด สีหภาค)         

คำขวัญวันครู 2555 : "บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล" (นางสาวขนิษฐา อุตรโส)

คำขวัญวันครู 2554 : "เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล" (นางกนกอร ภูนาสูง)

คำขวัญวันครู 2553 : "น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที" (นายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์)

คำขวัญวันครู 2552 : "ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู" (นางนฤมล จันทะรัตน์)         

คำขวัญวันครู 2551 : "ครูของแผ่นดิน เลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพล ชนบูชา" (นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม)

คำขวัญวันครู 2550 : "สิบหกมกรา เทิดทูน พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู" (นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์)

คำขวัญวันครู 2549 : "ครูดีเป็นศรีแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู" (นางพรรณา คงสง)

คำขวัญวันครู 2548 : "ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นดินศรัทธาบูชาครู" (นายประจักษ์ หัวใจเพชร)

คำขวัญวันครู 2547 : "ครู คือ พลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู" (นางสาวพรทิพย์ ศุภกา)
 
คำขวัญวันครู 2546 : "ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู" (นางสมปอง สายจันทร์)

คำขวัญวันครู 2545 : "สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู" (นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี)

คำขวัญวันครู 2544 : "พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์

คำขวัญวันครู 2543 : "ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี" และ "สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา" (นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายประจักษ์ เสตเตมิ)

คำขวัญวันครู 2542 : "ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา" และ "ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู" (นายปัญจะ เกสรทอง และนางเซียมเกียว แซ่เล้า)

คำขวัญวันครู 2541 : "ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี" (นายชุมพล ศิลปอาชา)

คำขวัญวันครู 2540 : "ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและน้ำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา" (นายสุขวิช รังสิตพล)

คำขวัญวันครู 2539 : "ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน" (นายสุขวิช รังสิตพล)

คำขวัญวันครู 2538 : "อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี" (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)
 
คำขวัญวันครู 2537 : "ครู คือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี" (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)
 
คำขวัญวันครู 2536 : "ครู คือ นักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม" (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)

คำขวัญวันครู 2535 : "ครู คือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ (ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์)

คำขวัญวันครู 2534 : "ครู คือ ผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี" (พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ)
 
คำขวัญวันครู 2533 : "ครู คือ ผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี (พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ)

คำขวัญวันครู 2532 : "ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย" (พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ)

คำขวัญวันครู 2531 : "ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี" (นายมารุต บุนนาค)
 
คำขวัญวันครู 2530 : "ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี" (นายมารุต บุนนาค)

คำขวัญวันครู 2529 : "ครู คือ ผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าและอยู่รอดปลอดภัย" (นายชวน หลีกภัย) 

คำขวัญวันครู 2528 : "การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดี มีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจ เมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้น ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครูทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรม เพื่อจะบังเกิดผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป" (นายชวน หลีกภัย)

คำขวัญวันครู 2527 : "ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภาทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สัมฤทธิผลอันพึงปรารถนาตลอด" (นายชวน หลีกภัย)

คำขวัญวันครู 2526 : "อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน" (ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์) 

คำขวัญวันครู 2525 : "ครู นั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้ เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จึงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป" (ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์) 

คำขวัญวันครู 2524 : "ครู ที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผน อันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์มีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านวิชาการ ความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย" (ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต) 

คำขวัญวันครู 2523 : "เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู" (ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์)

คำขวัญวันครู 2522 : "เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู" (ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์)

คำขวัญวันครู 2521 : "การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลาย ๆ ด้านมาช่วยเหลือการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้ ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่านทั้งนอกและในราชการ ขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน และขอได้โปรดตระหนักถึงหน้าที่ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของครูที่ดีสืบไป" (นายแพทย์บุญสม มาร์ติน)

กิจกรรมวันครู


          เนื่องในวันครูแห่งชาติ กิจกรรมวันครูมีอะไรบ้าง ? เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู ตลอดจนการจัดกิจกรรมได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

วันครู 2557 ประวัติวันครูแห่งชาติ

          การจัดงานวันครู หรือ กิจกรรมวันครูแห่งชาติ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู โดยมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ 

          1. กิจกรรมทางศาสนา 

          2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ 

          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
         
          ปัจจุบันการจัดงานวันครูได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้น เช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ

          รูปแบบการจัดงานวันครูในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชน ร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          จากนั้นประธานจัดงานวันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุม กล่าวปฏิญาณ

คำปฏิญาณตนของครู


          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู 

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ 

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

          "ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม"

วันครู
 

มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู


          1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ 

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น 

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้ 

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู 

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา 

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ 

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน 

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ 

          9. สุภาพเรียบร้อย ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา 

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

วันครู
  

รายชื่อประเทศที่มีวันครู


ประเทศที่มีวันครูที่ไม่ใช่วันหยุด


          - อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
          - มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 
          - ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน

ประเทศที่มีวันครูเป็นวันหยุด


          - แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม 
          - จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน 
          - สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม 
          - อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม 
          - ลาตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน 
          - โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 
          - รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม 
          - สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน 
          - สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม 
          - เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม 
          - ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน 
          - ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม 
          - สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วัน ในเดือนพฤษภาคม 
          - เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน
         

บทความเกี่ยวกับวันครูแห่งชาติ และวันเด็กแห่งชาติ

 คำขวัญวันเด็ก 2568 ประวัติวันเด็กแห่งชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คําขวัญวันครู 2568 พร้อมประวัติวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม อัปเดตล่าสุด 11 ธันวาคม 2567 เวลา 17:51:21 1,168,233 อ่าน
TOP
x close