x close

พระอุลตร้าแมน ไม่ใช่ดราม่าแรก ย้อนดูผลงาน อ.ถวัลย์ ดัชนี ถูกทำลาย ฐานเหยียบย่ำพุทธศาสนา

          ย้อนดูภาพ อ.ถวัลย์ ดัชนี เมื่อ 48 ปีก่อน ถูกกลุ่มนักเรียนบุกทำลายย่อยยับ ฐานเขียนภาพลบหลู่พระพุทธศาสนา "พระพุทธรูปอุลตร้าแมน" ไม่ใช่ความขัดแย้งครั้งแรกของวงการศิลปะไทย

          ความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กับกรณีภาพวาด "พระพุทธรูปอุลตร้าแมน" ของนักศึกษาสาว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ถึงความไม่เหมาะสมในการนำเสนอ รวมถึงประเด็นเรื่องการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา นี่อาจไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา เพราะถ้าเป็นกรณีแรกจริง ๆ นั้น ต้องย้อนกลับไปในปี 2514 หรือ 48 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

          ล่าสุด (9 กันยายน 2562) กระปุกดอทคอม ได้รับการเปิดเผยจาก คุณวิเชียร สุพิสาร ปัจจุบันอายุ 67 ปี อดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารของสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (ราชเทวี กรุงเทพฯ) สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนแห่งหนึ่ง บุกเอาคัตเตอร์กรีดภาพวาด เอาไม้ทุบตีเฟรมภาพของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งขณะนั้นได้พักอาศัยอยู่ที่นี่ และวาดภาพจัดแสดงไว้ที่ใต้หอพักชาย

          โดยคุณวิเชียร เผยว่า ก่อนวันที่เกิดเหตุ 2-3 วัน มีคนเข้ามาดูภาพ แล้วขอถ่ายรูปไป บอกว่าจะขอยืมเอาไปจัดแสดงในหมู่บ้านจัดสรร หลังจากนั้นก็มีนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้นมากันเยอะกว่า 20 คน บุกมาทำลายภาพวาดของ อ.ถวัลย์ ทั้งเอาคัตเตอร์กรีด ทั้งเอาไม้มาฟาดที่ภาพ ซึ่งตอนเกิดเหตุ อ.ถวัลย์ ไปบ้านเพื่อนแถวสาทร ตนจึงรีบให้เจ้าหน้าที่โทร. แจ้ง แต่พออาจารย์มาถึงเหตุการณ์สงบไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ภาพที่เสียหายหลายภาพทีเดียว แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ตามมาสัมภาษณ์ ซึ่งตอนนั้น อ.ถวัลย์ โมโหมาก

          ทั้งนี้ ภาพที่จัดแสดงมีประมาณ 30 ภาพ แต่ภาพที่มีปัญหาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มีอยู่ 4-5 ภาพ ซึ่งภาพที่โดนวิจารณ์มากที่สุดคือ ภาพผู้ชายกล้ามใหญ่ วัยฉกรรจ์ แต่มีศีรษะเป็นวัว ยืนถือเศียรพระพุทธรูปที่ถูกตัดเอาไว้ในมือ ภาพนี้ถูกทำลายแบบไม่สามารถนำกลับมาซ่อมได้ นอกจากนี้ยังมีภาพอื่น ๆ ที่เสียหายและต้องทิ้งคือ ภาพผู้ชายยืนหันหลังเปลือยกาย แต่หัวเป็นเหมือนเศียรพระพุทธรูป, ภาพผู้ชายเปลือยกายหันหน้า แต่เอาระฆังวัดไปแขวนไว้ที่อัณฑะ มีหลังคาโบสถ์แทนที่ตรงศีรษะ และภาพพระสงฆ์ที่ถือตาลปัตรเป็นรูปลูกตาแทนศีรษะ   

          ขณะที่หนังสือ "ตำนานชีวิตของช่างวาดรูป ผู้ใช้โลกเป็นเวที" ของคุณฉลอง พินิจสุวรรณ ก็ได้ให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้เช่นเดียวกันว่า หลังจากเกิดเหตุมันก็กลายเป็นข่าวใหญ่โตขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้นำไปลง จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้ อ.ถวัลย์ ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ในข้อหาเขียนภาพลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นการปะทะกันครั้งแรกของวงการศิลปะประเทศไทย ระหว่างผู้สร้างงานศิลปะกับผู้เสพงานศิลปะ

          หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หน้า 3 ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2514 คอลัมนิสต์คือคุณสีเสียด ได้มีการลงภาพเขียนของ อ.ถวัลย์ ที่กล่าวถึงนี้ และได้มีบทความกล่าวไว้ว่า "ผู้ชายเปลือยเอาระฆังวัดไทยไปแขวนอัณฑะ มีหลังคาโบสถ์ไทยครอบไว้ คือนายถวัลย์ ดัชนี ล่ะ เป็นศิลปินบ้า หน้าอกเสื้อเป็นพักตร์ของพระเยซูหรือเปล่าไม่รู้ได้ แต่ตัวเขาเป็นคริสต์ ตาลปัตรพระภิกษุ เป็นนัยน์ตาลุกโพลง พุ่งตรงไปยังหญิงเปลือย จะแปลว่าอะไร นายถวัลย์จะด่าชาวพุทธทั้งประเทศว่าโง่เขลา ที่ไม่เข้าใจถึงศิลปะของเขา เราก็ยอมว่าเราโง่ ! แต่จะยอมให้นายคนนี้หมิ่นบวรพุทธศาสนาหาได้ไม่"


          โดยในความเป็นจริงแล้ว รูปที่หน้าอกเสื้อที่ อ.ถวัลย์ สวมใส่นั้น ไม่ใช่รูปพระเยซู แต่เป็นรูปของ "เช เกบารา" นายแพทย์นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา ที่โด่งดังในประเทศคิวบา ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยนั้นนั่นเอง

          ต่อมา อ.ถวัลย์ ได้อธิบายว่า การเขียนรูปคางคกปนกับเศียรพระ รูปช้างผสมกับคน หรือรูปผู้หญิงเปลือยกายกับพระสงฆ์นั้น เพราะตนมีความเชื่อในเรื่องของความดี ความเลว สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมจะอยู่ในสภาพที่เลวทรามต่ำช้ากว่าคนอุปมา ส่วนคางคกนั้น น่าเกลียดเหลือกำลัง เป็นของสกปรก ซึ่งเปรียบได้กับความเลวทรามต่ำช้าของมนุษย์ ส่วนเศียรพระ เป็นสิ่งแทนพระพุทธศาสนาอันเป็นของสูงยิ่ง แสดงถึงความดี ความบริสุทธิ์ ความมีปัญญา เมื่อเอานำมารวมกันแล้วก็จะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความดี และความเลว ซึ่งเราจะเลือกเอาทางไหน
 
          "ถ้าโลกนี้ไม่มีความเลวแล้ว เราจะรู้ว่าคนดีนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่า คนที่ดูภาพเขียนนั้น ได้แปลความหมายของภาพเขียนนั้นผิดไป ซึ่งความจริงแล้วไม่ควรจะแปล เพราะงานศิลปะ ถ้าเรามัวไปแปลอยู่ บางครั้งก็เกิดมีอคติต่องานศิลปะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานประเภท Abstract แล้ว อย่าไปแปลให้ยุ่งยากเลย เพราะการแปลก็ไม่ได้มีคำตอบให้ ถ้าจำเป็นควรจะพิจารณาว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นคงจะพอ เราจะไม่พูดว่าเราเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ เพราะการที่จะเข้าใจอะไรนั้นนับเป็นเรื่องที่ยาก"

          อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น อ.ถวัลย์ ดัชนี ก็ไม่จัดงานแสดงภาพเขียนในไทยอีกนานหลายสิบปี แต่หันไปจัดงานภาพเขียนที่ต่างประเทศแทน จนได้รับการยอมรับและยกย่องมากมาย และภายหลังท่านก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม เมื่อปี 2544


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระอุลตร้าแมน ไม่ใช่ดราม่าแรก ย้อนดูผลงาน อ.ถวัลย์ ดัชนี ถูกทำลาย ฐานเหยียบย่ำพุทธศาสนา อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2562 เวลา 23:52:48 64,523 อ่าน
TOP