สุดทึ่ง นาซาตรวจพบโมเมนต์ หลุมดำกินดาวฤกษ์ ได้แบบสด ๆ ร้อน ๆ !

          นาซาตรวจพบช่วงเวลา หลุมดำฉีกกินดาวฤกฤษ์ แบบสด ๆ ร้อน ๆ เผยหลุมดำนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6.3 ล้านเท่า และตอนกินดาวฤกษ์ มีแสงสว่างมากกว่าทั้งกาแลกซี่ 


ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          วันที่ 27 กันยายน 2562 เว็บไซต์ ScienceAlert รายงานว่า ทีมนักดาราศาสตร์ประจำโครงการ All-Sky Automated Survey for Supernovae (ASAS-SN) ของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) พบว่ากล้องโทรทรรศน์ TESS สามารถตรวจพบปรากฏการณ์สำคัญ หลังจากที่หลุมดำกลืนกินดาวฤกษ์เข้าไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย และยากที่จะพบเห็นได้

          รายงานระบุว่า กล้องโทรทรรศน์ TESS เป็นกล้องติดดาวเทียมตัวใหม่ที่นาซาส่งออกไปนอกอวกาศเมื่อปีที่แล้ว และมีจุดประสงค์สำคัญคือ การตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าดูการทำงานของกล้องนี้อยู่ตลอด กระทั่งพบว่า TESS ตรวจพบภาพท้องฟ้าที่สว่างวาบขึ้นมาได้ ทีมนักดาราศาสตร์จึงหันกล้องไปยังทิศทางของแสงทันที นั่นก็คือ กาแลกซี่ 2MASX J07001137-6602251 และพบว่าดาวฤกษ์ดวงหนึ่งกำลังถูกหลุมดำกลืนเข้าไป

          กาแลกซี่ 2MASX J07001137-6602251 อยู่ห่างออกไปประมาณ 375 ล้านปีแสง ดังนั้นหมายความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 375 ล้านปีที่แล้ว แต่ก็สามารถนับได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสดใหม่ เพราะแสงเพิ่งเดินทางมาถึง และบอกให้เรารับรู้ถึงโมเมนต์สำคัญนี้

          ปรากฏการณ์ที่หลุมดำกลืนกินดาวกฤษ์ มีชื่อเรียกว่า tidal disruption events หรือ TDEs ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์โคจรเข้าใกล้ขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) หรือพื้นที่โดยรอบหลุมดำ จนถูกแรงมหาศาลของหลุมดำฉีกทำลายไป

          นักดาราศาสตร์พบว่าซูเปอร์หลุมดำดังกล่าวมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6.3 ล้านเท่า ส่วนดาวฤกษ์ที่ตกเป็นเหยื่อนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมวลเท่าใด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทรงพลังมาก เพราะมันก่อให้เกิดแสงที่ส่องสว่างมากกว่ากาแลกซี่ของมันเองถึง 4 เท่า รวมทั้งเป็นแสงที่สว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่า

โมเมนต์ หลุมดำฉีกกินดาวฤกษ์ ที่กล้อง TESS จับภาพไว้ได้
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @SuperASASSN

          และที่สำคัญก็คือ การค้นพบครั้งนี้นับเป็นว่าครั้งแรกที่สามารถตรวจจับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสด ๆ ขณะหลุมดำฉีกกินดาวฤกษ์ ก่อนหน้านี้เคยตรวจพบ TDEs มาได้ราว 4-5 ครั้ง แต่มักจะพบตอนที่ผ่านช่วงพีคไปแล้ว โมเมนต์ที่สดใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้นเช่นนี้ นับว่าเพิ่งเคยพบ

          ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า ASASSN-19bt โดยกล้อง TESS ตรวจพบได้เป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม 2562 และได้ติดตามเรื่อยมาก กระทั่งตรวจพบว่าช่วงเวลามาถึงจุดพีค ซึ่งเป็นช่วงที่แสงส่องสว่างมากที่สุดคือ วันที่ 4 มีนาคม 2562


          สิ่งใหม่ที่เพิ่งค้นพบในครั้งนี้ก็คือ การได้เห็นช่วงที่แสงส่องว่างโชติช่วงมากที่สุด กับช่วงที่แสงริบหรี่ลง และอุณหภูมิลดต่ำลง ซึ่งไม่เคยค้นพบมาก่อน นอกจากนี้แล้ว อีกสิ่งใหม่ที่ได้รับการค้นพบก็คือ กาแลกซี่ดังกล่าวมีอายุน้อยกว่า และมีฝุ่นฟุ้งกระจายหนาแน่นกว่ากาแลกซี่อื่น ๆ ที่มีปรากฏการณ์หลุมดำกลืนกินดาวกฤษ์เกิดขึ้น

          ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตาม ปรากฏารณ์ ASASSN-19bt หลังจากปล่อยแสงสว่างมากมาเป็นเวลา 3 เดือน และได้เก็บข้อมูลรายละเอียดเอาไว้ โดยหลังจากนั้น จะมีการเผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และมันจะเป็นบทความที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์หลุมดำฉีกกินดาวกฤษ์ที่ละเอียดที่สุด ตั้งแต่เคยมีมา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุดทึ่ง นาซาตรวจพบโมเมนต์ หลุมดำกินดาวฤกษ์ ได้แบบสด ๆ ร้อน ๆ ! โพสต์เมื่อ 27 กันยายน 2562 เวลา 21:21:25 21,051 อ่าน
TOP
x close