แพทยสภา วอนผู้ใจบุญนับ 1 - 4 ก่อนบริจาคเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาล ป้องกันการบริจาคไม่ตรงความต้องการ หรือไม่สามารถงานใช้งานได้ สุดท้ายอาจเปล่าประโยชน์ ไปอยู่ใต้บันได เสียดายเงินเปล่า ๆ
การทำบุญในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ รวมถึงมีผู้ใจบุญหันมาบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลน โดยแต่ละโรงพยาบาล มีความต้องการไม่เหมือนกัน ทำให้พบว่าที่ผ่านมา น้ำใจที่หลั่งไหลไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ บางครั้งเป็นการให้ที่ไม่ตรงกับความต้องการ จึงอาจทำให้เครื่องมือแพทย์เหล่านั้นไม่มีประโยชน์กับบางพื้นที่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 22 ตุลาคม 2562 พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ฝากเป็นข้อคิดให้กับผู้ใจบุญทั้งหลาย ได้ตั้งสติคิดทบทวนให้ดีก่อนการบริจาค ตนสนับสนุนเรื่องการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ แต่แนะนำให้นับ 1 ถึง 4 ตามข้อความต่อไปนี้เสียก่อน ค่อยตัดสินใจ
1. อย่าบริจาคเพียงเพราะเราอยากให้ แต่ต้องตรวจสอบและคุยกับผู้รับก่อนว่า โรงพยาบาลมีความต้องการและอยากได้จริงหรือเปล่า คนไข้จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่
2. เครื่องมือแพทย์แต่ละอย่าง ต้องมีหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้เป็น ซึ่งต้องเรียนมาโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบว่ามีหรือไม่ ก่อนการบริจาค รวมถึงตรวจสอบว่ามีพื้นที่ อาคาร แผนก หรือระบบติดตั้งรองรับแล้ว
3. เครื่องมือแพทย์แต่ละเครื่อง ปัจจุบันเป็นคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก ต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลในเครือข่ายเดียวกัน การบริจาคจึงต้องศึกษาระบบของโรงพยาบาลเสียก่อน หากบริจาคไปโดยไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบโรงพยาบาลได้ ก็มีประโยชน์น้อย หรืออายุการใช้งานสั้นลง
4. เครื่องมือแพทย์ควรมีอายุการใช้งานยาวนาน ดังนั้น เรื่องการซ่อมบำรุง ต้องมีบริษัทเข้าไปดูแลให้ได้ จึงต้องตรวจสอบเสียก่อนว่าโรงพยาบาลที่มอบให้ ในอำเภอนั้น ๆ หรือจังหวัดนั้น มีตัวแทนบริษัทเข้าไปดูแลหรือไม่ มิฉะนั้น เมื่อเครื่องเสียจะไม่มีใครซ่อม หรือหากสามารถซ่อมแซมเองได้ ต้องมีอะไหล่ที่โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อได้ หรือเป็นอุปกรณ์ตัวเดิมที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาล จะได้ดูแลร่วมกันได้ ไม่ควรใช้ยี่ห้อใหม่ ๆ ที่โรงพยาบาลไม่คุ้นเคย
โดยทั้ง 4 ข้อนี้ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา หลังบริจาคเครื่องมือไป เช่น ซ่อมไม่ได้ ไม่มีอะไหล่ ไม่มีน้ำยาที่ใช้ได้ อุปกรณ์สั่งซื้อไม่ได้ ไม่มีแบตเตอรี่สำรอง เป็นต้น สุดท้ายเครื่องมือเหล่านี้ต้องไปอยู่ใต้บันได เสียดายเงินบริจาค
รวมถึงอย่าซื้อเครื่องมือเดียวกันในยี่ห้อที่ถูกกว่า โดยมองเพียงว่าราคาถูกกว่า จะสามารถซื้อบริจาคได้หลาย ๆ ชิ้น แต่ต้องมองว่าเครื่องไหนใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ในระยะยาว และยั่งยืนกับโรงพยาบาล
ดังนั้น ถ้านับไม่ถึง 4 อย่าเพิ่งบริจาค นอกจากนี้ อาจให้โรงพยาบาลระบุสิ่งที่เขาต้องการเอง หรือบริจาคเข้ามูลนิธิ เพื่อกระจายไปโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามความต้องการ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen