หมอเตือน มีเพศสัมพันธ์ต้องเซฟ หลังออนไลน์สนั่น คนเลือดบวกโวไม่ต้องใส่ถุงก็ได้ !!

          โซเชียลวิจารณ์สนั่น หลังหนุ่มติดเชื้อ HIV แนะวิธีเอาใจคนมีรสนิยมไม่ชอบสวมถุงยาง แค่กินยาต้าน ด้านหมอโต้เป็นวิธีคิดที่ผิด ชี้โรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่ได้มีแต่ HIV

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          จากกรณีที่โลกออนไลน์กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในขณะนี้ กรณีที่มีคำแนะนำว่า ผู้ติดเชื้อ HIV  สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยที่ไม่ต้องสวมถุงยางอนามัย เพียงแค่กินยา PrEP และคนที่กินยา สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนที่กินยาด้วยกันได้โดยไม่สวมถุงยาง รวมถึงคนที่มีเชื้อ ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อด้วยกันได้โดยไม่สวมถุงยาง ซึ่งหลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ถูกกระแสตีกลับจำนวนมาก

          ล่าสุด (6 ธันวาคม 2562) เพจ หมอบูดขี้บ่น ได้มีการโพสต์ข้อความกล่าวถึงโพสต์ดังกล่าว พร้อมเตือนว่า การกระทำนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นความคิดที่ผิด เพราะการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่สวมถุงยางอนามัยนั้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และไม่ใช่แค่เชื้อ HIV แต่ยังมีโรคที่สามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์อื่น ๆ อีก เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้/เทียม คลาไมเดีย ไวรัสตับ B,C เป็นต้น

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          ทั้งนี้ สภากาชาดไทย ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวยา เพร็พ (PREP) และ เป็ป (PEP) ดังนี้ โดย เพร็พ (PrEP) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค โดยการรับประทานยาวันละ 1 เม็ดทุกวัน เพร็พ (PrEP) ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          เพร็พ (PrEP) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค โดยการรับประทานยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวัน เพร็พ (PrEP) ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

          - เพร็พ (PrEP) เหมาะกับใคร เพร็พ (PrEP) เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง ได้แก่...

                    - ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
                    - ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
                    - ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
                    - ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
                    - ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
                    - ผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดชนิดฉีด
                    - ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

          - เพร็พ (PrEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หากผู้มารับบริการรับประทานทุกวัน และมีวินัยในการรับประทาน คือรับประทานในเวลาเดียวกันในทุก ๆ วัน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

          - จะรับเพร็พ (PrEP) ได้อย่างไร คือ ต้องงดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับเพร็พ (PrEP) ผู้มารับบริการจะได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต หลังจากที่ได้รับยาเพร็พ (PrEP) ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยาเพร็พ (PrEP) ทุกครั้ง

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          สำหรับ เป็ป (PEP) ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีความเสี่ยง และรับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน

          - ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป็ป (PEP) คือ ยาเป็ป (PEP) มีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้

                    - มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจจะมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก)
                    - ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
                    - ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

          - เป็ป (PEP) ป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หากผู้รับบริการคาดว่าเพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และรับยาเป็ป (PEP) เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่ายิ่งรับยาเร็ว ยาจะยิ่งมีประสิทธิภาพ

          - จะรับยาเป็ป (PEP) ได้อย่างไร คื ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยาเป็ป (PEP) แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป (PEP) หรือไม่ โดยแพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP) (หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป (PEP) ได้) หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก สภากาชาดไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอเตือน มีเพศสัมพันธ์ต้องเซฟ หลังออนไลน์สนั่น คนเลือดบวกโวไม่ต้องใส่ถุงก็ได้ !! อัปเดตล่าสุด 7 ธันวาคม 2562 เวลา 11:34:15 25,880 อ่าน
TOP
x close