x close

กรมศิลปากร หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ทำเหมืองหิน แม้มีภาพเขียนสีพันปี

          กรมศิลปากร หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา เกือบ 200 ไร่ ทำเหมืองหิน แม้มีภาพเขียนสีพันปี อ้างลดปัญหาการขาดแคลนแหล่งหินอุตสาหกรรม-ลดปัญหาความไม่สงบภาคใต้



          เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 กรมศิลปากร มีประกาศเรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน มีใจความว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ยะลา และจังหวัดใกล้เคียง ประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม เพราะแหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องอาศัยแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรม และลดความรุนแรงที่อาจเกิดจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้

          ทั้งนี้ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้สั่งการให้แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ให้มีพื้นที่ประมาณ 693 ไร่ 75 ตารางวา จากเดิม 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา




ภาพแสดงพื้นที่เขายะลาที่ถูกลดพื้นที่ตามประกาศ

          ล่าสุด วันที่ 4 มีนาคม 2563 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า หลังจากชาวบ้านทราบข่าวก็รู้สึกเสียใจ แม้ว่าที่ผ่านมาจะร่วมกันฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่เขายะลาไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังศึกษา และแม้ที่ผ่านมาทางกรมศิลปากรจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสืบค้นข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทางชาวบ้านก็มีความหวังที่จะให้เขายะลาคงสภาพโบราณสถานของจังหวัดต่อไป

          รายงานข่าวระบุว่า ช่วงที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปสำรวจ และพบภาพเขียนสีโบราณถึง 2 แห่งด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบอาวุธโบราณซึ่งเชื่อว่าเป็นของมนุษย์ยุคหินหลายพันปี ก่อนที่จะมีภาพเขียนสีตามวิวัฒนาการ โดยภาพเขียนสีที่แรกที่พบนั้น มีพื้นที่บนภาพเขียนเกือบ 3 เมตร แต่ก็ได้พังทลายและเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหิน จนล่าสุดเหลือภาพเขียนสีบนเขายาลอ หรือเขายะลา เพียง 1 แห่ง ที่ยังคงอยู่บนผนังหิน

          ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจ และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะที่ผ่านมาก็หวังว่ากรมศิลปากรจะให้ความสำคัญกับโบราณสถานประจำท้องถิ่น แต่เมื่อมีการประกาศออกมาแบบนี้ก็ทำให้ห่วงว่า หากมีการอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมหินต่อไป ภาพเขียนสีโบราณเขายะลาก็จะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป ที่ผ่านมาก็มีทั้งผู้นำหน่วยงานหลายหน่วยงานในพื้นที่ พากันวิ่งเข้ามาในตำบลยะลา เพื่อหวังที่จะให้ชาวบ้านยินยอมในการทำอุตสาหกรรมหิน ซึ่งชาวบ้านก็มองว่า การประกาศของกรมศิลปากรดังกล่าวที่ออกมานั้น เป็นการเอื้อต่อธุรกิจอุตสาหกรรมหินของกลุ่มนายทุนในพื้นที่

กรมศิลปากร
 ภาพ Google Map แสดงที่ตั้งของเขายะลา (แคปภาพวันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลาประมาณ 21.21 น.) โดยพื้นที่ด้านเหนือและตะวันออกของภูเขาได้มีการระเบิดหินเรียบร้อยแล้ว

          อนึ่ง เขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 สมัย น.อ. อาวุธ เงินชูกลิ่น ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น



ภาพแสดงพื้นที่เขายะลาเมื่อครั้งถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมศิลปากร หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ทำเหมืองหิน แม้มีภาพเขียนสีพันปี อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2563 เวลา 09:49:26 29,125 อ่าน
TOP