หลักการจีนเดียว หรือนโยบายจีนเดียว (One China Policy) คืออะไร
เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สรุปแล้ว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่
มาหาคำตอบกัน
ภาพจาก Instagram bbrightvc
กลายเป็นดราม่าที่ดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อชาวเน็ตไทย-จีน
ปะทะกันสนั่นโลกออนไลน์ เมื่อ ไบร์ท วชิรวิชญ์ นักแสดงหนุ่มจากซีรีส์ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series
รีทวีตโพสต์หนึ่ง ที่มีการเรียกฮ่องกงว่าประเทศ
ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับชาวจีน ที่มองว่า ฮ่องกง รวมทั้ง ไต้หวัน
เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งหนุ่มไบร์ทได้ออกมาขอโทษแล้ว
แต่ดูเหมือนดราม่าจะยังไม่มอดลง เพราะมีการตีความผิด ๆ จากข้อความที่ไบร์ทและแฟนสาวคุยโต้ตอบกัน
จนคิดว่าทั้งคู่สนับสนุนการแยกประเทศของไต้หวันและฮ่องกง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านข่าว : #nnevvy ดับแท็กดัง สงครามน้ำลาย ไทย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน จากเรื่องดารา ไบร์ท วชิรวิชญ์
อ่านข่าว : #nnevvy ดับแท็กดัง สงครามน้ำลาย ไทย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน จากเรื่องดารา ไบร์ท วชิรวิชญ์
ล่าสุด วันที่ 14 เมษายน 2563 เฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ระบุว่า ประเทศจีน ยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และเป็นจุดยืนที่รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยยึดมั่นมานาน ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เป็นการสะท้อนอคติและความไม่รู้ แต่ไม่สามารถแสดงถึงจุดยืนที่มั่นคงของรัฐบาลไทยและความคิดเห็นกระแสหลักของประชาชนชาวไทยได้ คนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยง เพื่อทำให้ผิดใจกัน ซึ่งความคิดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลายคนอาจสงสัยว่า "นโยบายจีนเดียว" หรือ One China Policy นั้นคืออะไร แล้วตกลง ไต้หวัน เป็นประเทศ หรือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนกันแน่ เรามาหาคำตอบกัน
ความเป็นมาของคำถามที่ว่า ทำไม จีน ถึงมี 2 จีน ซึ่งต้องเกริ่นย้อนไปเมื่อครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประเทศจีนในขณะนั้นที่เป็นเพียงสาธารณรัฐจีน ก็เกิดสงครามกลางเมืองของพรรคก๊กมินตั๋ง นำโดย จอมพล เจียง ไคเชก และพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดย เหมา เจ๋อตง ซึ่งผู้ชนะคือพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากนั้น จอมพล เจียง ไคเชก ได้ย้ายรัฐบาลไปที่ไต้หวัน ด้าน เหมา เจ๋อตง ได้ตั้งระบอบสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. 1949 จึงเกิดเป็นจีนและไต้หวันนับจากนั้นเป็นต้นมา
นโยบายจีนเดียว จึงเป็นหลักการที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ กับจีน ร่วมมือต่อต้านสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1970 ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุไว้ว่า นโยบายจีนเดียว หรือหลักการจีนเดียว One China Policy เป็นจุดยืนที่จีนยื่นต่อประเทศที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ต้องเลือกเพียงจีนเดียว ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ได้ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China : PRC) หรือจีนแผ่นดินใหญ่และสาธารณรัฐจีน (Republic of China : ROC) หรือไต้หวัน และด้วยนโยบายจีนเดียวนั้น รัฐบาลจีนมีจุดยืนว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่อาจแบ่งแยกจากจีนได้ เพราะถือเป็นบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน
สำหรับความสัมพันธ์ ไทย-จีน นั้น ประเทศไทยรับรองว่า จีนแผ่นดินใหญ่ คือจีนที่แท้จริง ส่วนไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้ว่าไต้หวันจะมีระบอบการปกครองที่แยกจากจีน มีสกุลเงิน รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของตัวเองก็ตาม ซึ่งคำตอบว่าไต้หวันเป็นประเทศ หรือเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้น เป็นคำตอบที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจาก สำนักข่าวกรองแห่งชาติ