x close

โจ นูโว ด่าแฟนคลับ ด้าน อาจารย์เจษ อธิบายทฤษฎีของ ดาร์วิน ไม่ใช่ใครอ่อนแอก็ตายไป


          รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อธิบาย ทฤษฎีวิวัฒนาการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ชี้ ชาร์ล ดาร์วิน ต้องการสื่อว่าสิ่งมีชีวิตต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่อสู้กันเพื่ออยู่รอด หรืออ่อนแอก็ตายไป ในช่วงโควิด 19 ระบาด อย่างที่ โจ จิรายุส บอก

อ.เจษ อธิบายทฤษฎี ดาร์วิน

          จากกรณี มีผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์ COVID-19 มาระบายความรู้สึกผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวของ โจ จิรายุส ว่าคนรากหญ้ากำลังจะตายหมู่ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถเยียวยาได้ทั่วถึง ซึ่งโจก็ตอบกลับแรงว่า ตายได้ตายไปเลย มันเป็นเรื่องที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ธรรมชาติจะคัดสรรผู้ที่อยู่รอด จนทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงนั้น

          อ่านข่าว : โจ จิรายุส ตอบ ตายได้ตายไปเลย หลังคนคอมเมนต์โอดคนรากหญ้าจะตายหมู่

อ.เจษ อธิบายทฤษฎี ดาร์วิน
ภาพจาก Instagram joejirayut

          วันที่ 17 เมษายน 2563 รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบาย ทฤษฎีวิวัฒนาการ ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ของชาร์ล ดาร์วิน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ว่า จากดราม่าเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤต โควิด 19 ใครลำบากก็ต้องช่วยตัวเอง เพราะธรรมชาติจะมีการคัดสรรผู้ที่อยู่รอดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาตาม ทฤษฎี ชาร์ล ดาร์วิน นั้น หรือ Survival of the fittest แท้จริงแล้วคำพูดดังกล่าวไม่ตรงตามทฤษฎี วิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน แต่เป็น แนวคิด "Social Darwinism" ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1870s ที่เอาหลักชีววิทยาของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) และการอยู่รอดของผู้ที่ปรับตัวได้ดีกว่ามาประยุกต์ใช้กับเรื่องรัฐศาสตร์สังคมวิทยา โดยเชื่อว่า ผู้ที่แข็งแกร่งกว่า ก็ควรจะมีอำนาจและทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่า ก็ควรจะมีอำนาจและทรัพย์สมบัติลดลง

อ.เจษ อธิบายทฤษฎี ดาร์วิน

          โดยแนวคิดดังกล่าว ได้ถูกใช้อ้างกันมากในหลาย ๆ กลุ่ม เพื่อสนับสนุนความคิดของตนเอง เช่น พวกทุนนิยม พวกยูเจนิกส์ (eugenics) พวกเหยียดเชื้อชาติ พวกจักรวรรดินิยม พวกฟาสซิสต์ พวกนาซี หรือแม้แต่เวลาที่มีการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มชน

          แต่ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของ ชาร์ล ดาร์วิน นั้นตั้งใจจะอธิบายความหลากหลาย และการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ไม่ได้มีเจตนาอธิบายการต่อสู้กันของสังคมมนุษย์ ชาร์ล ดาร์วิน ไม่ได้อธิบายว่า สิ่งมีชีวิตตัวที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด และได้ขยายไปถึงตัวที่ทำงานร่วมมือกับตัวอื่นได้ ตามหลักที่ว่า "struggle is replaced by co-operation" การแก่งแย่งดิ้นรน จะถูกแทนที่ด้วยการร่วมมือกัน

          รศ. ดร.เจษฎา ระบุอีกว่า ชาร์ล ดาร์วิน คาดการณ์ไว้แล้วว่า คำว่า การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่เขากำลังนำเสนอแก่วงการวิทยาศาสตร์นั้น อาจถูกตีความหมายผิด หากถูกเอาไปใช้ในมุมที่แคบ ๆ ว่าเป็นการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด จึงได้ระบุความหมายเอาไว้ว่า "เป็นสำนึกในมุมกว้างและอุปมาอุปไมย ที่จะครอบคลุมถึงการที่สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งจะพึ่งพากับอีกตัวหนึ่ง และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะครอบคลุม ไม่ใช่เฉพาะการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตตัวนั้น แต่รวมถึงความสำเร็จในการที่จะมีลูกหลานสืบต่อไปด้วย"

          และยังอธิบายเอาไว้ในหนังสือ The Descent of Man ว่า ในสังคมของสัตว์สารพัดชนิด เรากลับไม่พบการดิ้นรนแก่งแย่งกันเองของสัตว์แต่ละตัว แต่กลับถูกแทนที่ด้วยการทำงานร่วมกัน และพัฒนาไปสู่ศักยภาพด้านสติปัญญาและจริยธรรม ที่ช่วยให้สัตว์สปีชีส์นั้นอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดที่จะอยู่รอดได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวคำว่า "fittest" หรือ "เหมาะสมที่สุด" ไม่ได้หมายถึง ตัวที่แข็งแรงที่สุดทางกายภาพ แต่หมายถึงตัวที่เรียนรู้ที่จะรวมตัวพึ่งพากันเพื่อประโยชน์สุขของทั้งสังคม และ ชาร์ล ดาร์วิน ยังอธิบายอีกว่า สังคม ซึ่งมีสมาชิกที่เห็นอกเห็นใจกัน เป็นจำนวนมากที่สุด จะเติบโตรุ่งเรืองที่สุด และจะมีลูกหลานเป็นจำนวนมากที่สุดด้วย

          สุดท้าย รศ. ดร.เจษฎา สรุปว่า ไม่ควรเอาแนวคิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติของ ชาร์ล ดาร์วิน มาใช้อ้างมั่ว ๆ เพื่อปฏิเสธเรื่องการช่วยเหลือกันในสังคมในช่วง โควิด 19 กำลังระบาด

อ.เจษ อธิบายทฤษฎี ดาร์วิน

          นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก จ้องสืบพันธุ์ ยังได้อธิบาย ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เพิ่มเติมว่า ทฤษฎีดังกล่าว ชาร์ลส ดาร์วิน เสนอหลังจากมีโอกาสล่องไปกับเรือสำรวจบีเกิลของราชนาวีอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยได้จากการสรุปข้อมูลทางด้านธรณีและธรรมชาติวิทยาที่พบ และตีพิมพ์ในหนังสือ The Voyage of the Beagle III และ On the Origin of Species ที่นำเสนอแนวคิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โดยมีหลักการพื้นฐานว่า ผู้ที่เหมาะสมที่สุดจึงจะอยู่รอด

          แต่ความเหมาะสมที่ว่า หมายถึงลักษณะที่เหมาะสมกับการเอาชีวิตรอด จากการสะสมลักษณะที่ดีให้อยู่ต่อไป การกลายพันธุ์แบบสุ่มที่ทำให้ได้ลักษณะที่ช่วยให้อยู่รอด หรือเพิ่มโอกาสสืบพันธุ์ได้ดีกว่า การปรับตัวในเชิงพฤติกรรม และจากแรงกดดันของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทฤษฎีนี้ เชื่อในแรงขับเคลื่อนทางวิวัฒนาการ ว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทำให้ประชากรสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลกเป็นสปีชีส์แบบที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

อ.เจษ อธิบายทฤษฎี ดาร์วิน

          หลังจากทฤษฎีนี้ถูกเผยแพร่ไป ก็มีการท้าทาย และการพิสูจน์มากมาย จนสุดท้ายก็เป็นที่ยอมรับ ใช้เป็นคำอธิบายเหตุผลของลักษณะของสิ่งมีชีวิต และยังคงเป็นทฤษฎีที่สมเหตุสมผลในเชิงธรรมชาติวิทยานี้มาเสมอ และยังส่งผลไปถึงแนวคิดทางปรัชญาการเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อนที่จะถูกนำไปพัฒนาเป็นอีกทฤษฎีที่เรียกว่า Social Darwinism ที่ระบุว่า "ผู้ที่เหมาะสมที่สุดจึงจะอยู่รอด" ใครแกร่งกว่า เหมาะสมกว่า ก็จะได้อยู่รอดต่อไป

          ซึ่งแนวคิด Social Darwinism ถูกกลุ่มเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสุดโต่ง (laissez-faire economics) นำไปใช้เพื่อสนับสนุนการแบ่งชนชั้น นำไปสู่ความชอบธรรมในการกดขี่ชนชั้นแรงงาน และถูกนำไปใช้สนับสนุนการล่าอาณานิคม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ตามมาในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้แนวคิด Eugenics หรือสุพันธุศาสตร์ของฟรานซิส กัลตัน (Francis Galton) ที่เชื่อในการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ให้มีความเป็นเลิศในทุกด้านของกลุ่มนาซี และนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด Social Darwinism เช่นกัน

            แม้ว่าในปัจจุบันแนวคิด Social Darwinism จะถูกโต้แย้งและหักล้างไปมากแล้วสำหรับโลกตะวันตก แต่ในสังคมเราก็ยังคงเห็นการถูกยกมาอ้างจากความเข้าใจผิดอยู่เสมอ ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการใช้ทฤษฎีดังกล่าวผิดบริบทน้อยในอนาคต
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant, เฟซบุ๊ก จ้องสืบพันธุ์




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โจ นูโว ด่าแฟนคลับ ด้าน อาจารย์เจษ อธิบายทฤษฎีของ ดาร์วิน ไม่ใช่ใครอ่อนแอก็ตายไป อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2563 เวลา 18:50:46 20,088 อ่าน
TOP