อดีตรองประธานสหภาพการบินไทย เผยพนักงานยอมรับไม่ได้ การบินไทย ออกจากรัฐวิสาหกิจ ชี้ไม่มั่นคง ด้านทนายซัด กระทรวงการคลัง ห้ามค้ำช่วย หวั่นกระทบเงินภาษีประชาชน
รายการ "เรื่องลับมาก (no censor)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา
14.20-15.00 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (18 พฤษภาคม 2563) "ดร.เสรี
วงษ์มณฑา" ยังเกาะติดกรณีการบินไทยจะอยู่หรือไป โดยเปิดใจสัมภาษณ์
"สมศักดิ์ มานพ" อดีตรองประธานสหภาพการบินไทย และ "ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์"
คนมองว่าถ้าการบินไทยขาดทุน ไม่น่าเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ถ้าไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ จะเสียอะไร ?
สมศักดิ์ : รายได้ส่วนหนึ่งที่ควรเป็นของรัฐ
ก็เปลี่ยนถ่ายไปสู่เอกชนเพียงกลุ่มเดียว ถ้าฟื้นฟูกลับคืนมาให้มีกำไร
ก็กลับคืนสู่รัฐ คนที่ได้ส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนในประเทศนี้
การบินไทยออกจากรัฐวิสาหกิจจะกระทบพนักงานยังไง ?
สมศักดิ์ : สิ่งที่ทุกคนต้องการคือความมั่นคงในการทำงาน
ถ้าเปรียบเทียบการเป็นเอกชน
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่มั่นคงในการทำงานที่ทุกคนประสบกันอยู่
เอกชนการเลิกจ้างก็สามารถทำได้อย่างง่าย
พนักงานก็ไม่มั่นใจในความมั่นคงในการทำงาน
ทนายมองยังไง ?
รณณรงค์
: อันนี้ถ้ามองในแง่ธุรกิจ มันขาดทุนสะสมมาเยอะ เกิดจากอะไร
เกิดจากตัวผู้บริหารที่บริหารผิดพลาดหรือเปล่า
หรือเกิดจากพนักงานหรือภาวะเศรษฐกิจ มีการขาดทุนสะสมมาตั้งนาน
แต่รัฐบาลก็ช่วยมาเรื่อย ๆ มันมีคำถามจากคนไทยหลายคน เวลาการบินไทยได้กำไร
จ่ายโบนัสพนักงาน ไม่เห็นประชาชนได้เลย เวลาขาดทุน
ทำไมเอาภาษีประชาชนไปอุ้ม
กลับไปถามคุณสมศักดิ์ ถ้าการบินไทยเลิกเป็นรัฐวิสาหกิจ พนักงานคิดยังไง ?
สมศักดิ์ : ก็คงยอมรับไม่ได้
หากจะเปลี่ยนสภาพจากพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นพนักงานเอกชน
แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วจะด้วยปัจจัยอะไรต่าง ๆ ยังไงพนักงานก็ต้องยอมรับ
ซึ่งทุกคนต้องการมีงานทำ
ถ้าการบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ สหภาพการบินไทยจะอยู่ไหม จะได้รับผลกระทบไหม ?
สมศักดิ์ : สหภาพรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2543
สถานะองค์กรคือวิสาหกิจ เมื่อสถานะองค์กรพ้นจากสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ
สหภาพรัฐวิสาหกิจก็ต้องหมดไปโดยปริยาย โดยองค์กร
แต่พนักงานสามารถรวมตัวกันเองจัดตั้งสหภาพขึ้นมาใหม่ โดยใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
2518 เป็นสหภาพในส่วนภาคเอกชน
สหภาพรัฐวิสาหกิจกับสหภาพเอกชน ความแตกต่างในทางกฎหมายมีไหม ?
รณณรงค์
: คนตัดสินใจเลิกจ้างไม่เลิกจ้างคือเอกชน
ผมเคยเป็นที่ปรึกษาให้สหภาพเอกชนหลายเจ้า
ถ้าแข็งข้อกับการบินไทยเขาไล่ออกเลยแกนนำ แต่การบินไทยไม่เคยเลิกจ้าง
รัฐวิสาหกิจทำไม่ได้
พนักงานคงรับไม่ได้ เตรียมการเคลื่อนไหวไว้อย่างไร กรณีเขาให้เราออกจากรัฐวิสาหกิจจริง ๆ ?
สมศักดิ์ : ในส่วนพนักงานก็เตรียมการไว้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะไปคัดค้านนะ
พนักงานยินดี และสนับสนุนให้ฟื้นฟูการบินไทยโดยรัฐบาล
เพียงแต่แน่นอนจากที่เคยมีความมั่นคงในการทำงาน
ถูกปรับเปลี่ยนไปไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีใครรับได้หรอกครับ
การฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย ต่างจากการฟื้นฟูเองอย่างไร ?
รณณรงค์
: การล้มกับไม่ล้มแตกต่างกัน ถ้าการบินไทยบอกว่าล้มละลายเลย
เจ้าหนี้อาจไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว เพราะคนโดนยื่นศาลล้มละลาย
หนี้สินมีมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสถานะการบินไทย ถ้าให้ดำเนินธุรกิจต่อ
ปีหน้าอาจมีกำไรมาจ่ายเจ้าหนี้ได้มากขึ้น แต่โดยทั่วไปการเข้าสู่แผนฟื้นฟู
แสดงว่ากิจการไม่ดีแล้วนะครับ
แต่เขาอาจมองเห็นว่าบางส่วนการบินไทยน่าจะมีกำไรอยู่
เลยไม่ให้ล้มละลายตอนนี้
เขาทำเองกับยื่นศาลต่างกันยังไง ?
รณณรงค์
: ถ้ายื่นไปที่ศาลต้องมีการประชุมเจ้าหนี้ว่าเห็นชอบกับแผนนี้ไหม เจ้าหนี้ต้องเอามากองรวมกัน รวมเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์
ถ้าผมเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายฟื้นฟูกิจการแล้วเดินหน้าต่อไป
ยังมีการดีลสินค้าต่อก็เอานะ แต่ถ้าเป็นเจ้าหนี้ที่การบินไทยจะไม่ดีลแล้ว
เพราะผมขายแพง ผมก็ไม่เอา
สิทธิ์ของเจ้าหนี้ในขณะฟื้นฟูภายใต้กำกับศาลล้มละลาย มีมาก-น้อยแค่ไหน ?
รณณรงค์
: โหวตว่าเอาหรือไม่เอาแผนนี้ ถ้าเอาแล้วก็ต้องเดินหน้าตามแผนนี้
ซึ่งแผนนี้มีข้อดี เจ้าหนี้การบินไทยไม่สามารถมาบังคับชำระหนี้ได้
ยังยึดเครื่องบินไม่ได้ ลูกจ้างจะไปฟ้องนายจ้างก็ยังไม่ได้
หนี้ทุกอย่างถูกชะงักไว้ ข้อดีเยอะมาก ๆ ครับ แต่ที่สหภาพออกมาเคลื่อนไหว
ไม่ทราบว่าเกรงว่าพอเข้าแผนฟื้นฟู
อาจจะมีเจ้าหนี้บางส่วนขอให้มีการปรับลดพนักงานหรือเปล่า
เลยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้
โดยกฎหมายถ้าเจ้าหนี้ยินยอมให้ฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย เขามีสิทธิ์ในการขอร้องให้ลดพนักงานไหม ?
รณณรงค์
: ก็ต้องลดเท่าที่จำเป็น ถ้าเจ้าหนี้มองว่า 2 หมื่นเกินความจำเป็น 1
หมื่นก็ทำงานได้ เขาก็จะเลิกจ้างเลย โดยยื่นแผนตรงนี้ต่อศาล ถ้าศาลอนุมัติก็ดำเนินการเลย ซึ่งมันแตกต่างมาก ลูกจ้างต่อรองไม่ได้แล้วนะครับ
เพราะเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายแล้ว
โครงสร้างผู้บริหารการบินไทย อ้วน อุ้ยอ้าย ถ้ามีการยื่นฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย เจ้าหนี้บอกให้ยุบผู้บริหารบางตำแหน่ง ยุบได้ไหม ?
รณณรงค์
: ต้องใช้คำนี้ครับ บอร์ดหลังจากนี้จะไม่มีอำนาจเลย
เพราะอำนาจการตัดสินใจทุกอย่างคือเจ้าหนี้
บอร์ดถ้าเก่งจริงต้องบริหารให้มีกำไรมาตั้งแต่ก่อนขึ้นศาลแล้ว
ฉะนั้นคุณอย่ามายุ่ง เจ้าหนี้จะกำหนดทิศทางการบินไทย จะเลิกจ้าง
จะยุบบอร์ดไหม จะมีต่อไปหรือเปล่า มีเฉพาะตำแหน่งไหนบ้าง
แนวพนักงานไปทางไหน ฟื้นฟูเองหรือฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย ?
สมศักดิ์ : ฟื้นฟูเอง 2 ครั้งก็ล้มเหลว
ก็เหลือช่องทางเดียวคือฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย
ในส่วนพนักงานก็มีความเห็นมากขึ้นว่าควรเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลาย
เจ้าหนี้ที่เข้ามาก่อนให้ศาลสั่งบอกต้องลดพนักงานด้วย ?
สมศักดิ์ : เราก็ต้องยอมรับว่าพนักงานการบินไทยบางส่วนมันเกิน
บางส่วนที่แรงงานขาดจนพนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะแรงงานไม่มี
แต่บางหน่วยก็ต้องยอมรับว่าแรงงานมันเกิน ถ้าเจ้าหนี้ต้องการให้ลดพนักงานลง
ก็ต้องมาดูว่าอันไหนควรลด อันไหนควรเพิ่ม การทำงานของการบินไทยต้องอาศัยคน
ต่อให้คุณมีแผนที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีคนปฏิบัติ
รายได้ที่จะกลับเข้ามาเพื่อชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ระหว่างเจ้าหนี้กับคำแนะนำพนักงานว่าตรงนี้ขาด ใครจะมีอำนาจมากกว่ากัน ?
รณณรงค์
: เจ้าหนี้ครับ ต่อให้พนักงานเสนอขึ้นมาแต่เจ้าหนี้ไม่รับก็จบ
การประชุมเจ้าหนี้ที่ศาลล้มละลาย
ต้องบอกเลยใครมีหนี้สินเยอะที่สุดในกลุ่มก็มีสิทธิ์โหวตได้
และต้องยื่นที่ประเทศไทย
แล้วต่างประเทศค่อยส่งตัวแทนมาประชุมว่าคุณควรเอายังไง
เรื่องการคอร์รัปชัน การจัดซื้อจัดจ้าง ในแผนฟื้นฟูตัวนี้จะโผล่ไหม ?
รณณรงค์
: มีความเป็นไปได้ว่าทำไมพอเข้าแผนฟื้นฟู ของที่เคยซื้อ 3,000 เหลือ 500
อันนี้ต้องตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นยื่น ป.ป.ช.
ให้ตรวจสอบเอาผิดผู้บริหารต่อ ยังได้อยู่นะครับ
ของใหม่ไม่มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ?
รณณรงค์
: ผมว่ายากแล้ว เพราะอยู่ในเขตอำนาจศาลแล้วตอนนี้
มีการตรวจสอบจากเจ้าหนี้ด้วยกันหลายกลุ่มด้วยซ้ำ
ผมว่าเป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยไม่มีการประท้วง แต่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้แล้วจะเป็นของรัฐบาลหรือเอกชนต่อ
เพราะสายการบินทั่วโลกก็แย่กันหมด
ที่เผยแพร่กันอยู่
มีการเปรียบเทียบให้ดูว่าบอร์ดการบินไทยกับสิงคโปร์เป็นยังไง
บอร์ดการบินไทยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และอดีตข้าราชการ
มีเอกชนที่มีประสบการณ์อยู่นิดเดียว ส่วนสิงคโปร์ เขามีนักบัญชี
นักธุรกิจระหว่างประเทศมาช่วย มีนักบริหารบริษัทข้ามชาติ มันต่างกันลิบลับ
อย่างนี้ถ้าเอาแผนฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย ข้างบนจะอยู่ยังไง ?
รณณรงค์
: ก็ต้องให้ออก หยุดปฏิบัติหน้าที่ เอาคนใหม่มาบริหารแทน
ต้องถามว่าเจ้าหนี้เชื่อกับบอร์ดชุดเดิมไหม ถ้าไม่เชื่อก็เอาชุดใหม่มาบริหาร
มันต่างกันเยอะ ?
รณณรงค์
: ไม่แปลกใจที่กำไรเขาต่างกันขนาดนี้
บอร์ดการบินไทยในสายตาพนักงานเป็นยังไง ?
สมศักดิ์ : พนักงานไม่มีความเชื่อมั่นในตัวของบอร์ด
เรียกร้องว่าให้มีการเปลี่ยนบอร์ดใหม่ทั้งคณะ
เนื่องจากบอร์ดแทบทั้งคณะบริหารขาดทุนมาตลอด แต่ได้การประเมินให้ผ่าน
และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดอยู่เหมือนเดิม
ความสามารถก็คงรู้จากผลประกอบการที่มันขาดทุน
รู้สึกยังไงกับฝ่ายการบริหารการบินไทย ที่มีตำแหน่งเยอะมาก ?
สมศักดิ์ : เราก็เรียกร้องมาตลอดระยะเวลาว่าตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งปวง
ถ้าจะแต่งตั้งได้ก็ต้องมีงานยอมรับ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่งตั้งมาก่อนค่อยเอาตำแหน่งงานมารองรับ
หรือบางคนไม่มีตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น
ประชาชนจำนวนมากบอกว่าการบินไทยที่ขาดทุน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสวัสดิการของบอร์ด ผู้บริหาร หรือพนักงาน อธิบายเรื่องนี้ยังไง ?
สมศักดิ์ : เมื่อก่อนมีจริง เข้ามาเป็นบอร์ดการบินไทยวันเดียว
พ้นตำแหน่งไปคุณก็สามารถใช้สิทธิ์ตั๋วฟรีได้ตลอดชีวิต ครอบครัวด้วย
แต่สหภาพชุดที่ผ่าน ๆ มา รณรงค์เรียกร้องบอกว่าอย่างนี้ส่งผลเสียหาย
ขณะนี้บอร์ดในเรื่องตั๋วฟรีไปปฏิบัติหน้าที่ให้การบินไทย ญาติไม่ได้แล้ว
แต่ตัวบอร์ดหลังพ้นตำแหน่งไปไม่เกิน 3 ปีถือว่าเลิกกัน
ถ้าให้ตัดสวัสดิการเรื่องซื้อตั๋วลดไม่มีจำกัดไม่ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ พนักงานจะยอมไหม ?
สมศักดิ์ : ทบทวนได้ครับ แล้วมาพูดจากันว่าในฐานะเป็นคนในองค์กร
ควรได้รับสิทธิสวัสดิการคืนจากองค์กรบ้าง
แต่มาทบทวนกันได้ในส่วนที่เหมาะสม
แผนฟื้นฟูครั้งนี้ไม่ใช่เงินภาษี แต่เป็นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังไปค้ำ ?
รณณรงค์
: กระทรวงการคลังห้ามค้ำเด็ดขาด ต้องปล่อยให้เข้าแผนฟื้นฟูตามปกติไป
ถ้ากระทรวงการคลังไปค้ำแล้วการบินไทยจ่ายไม่ได้
ก็ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายคืนธนาคารอยู่ดี แล้วเวลาแบงก์ฟ้อง
แบงก์ก็ฟ้องรัฐบาลอยู่แล้ว ให้จ่ายแทนมันเหมือนเงินให้เปล่า
ถ้าจะค้ำก็ให้เจ้าหนี้มาดูแลกันเองเลยครับ อย่าให้ภาระกับประชาชนไปดูแล
เพราะผมไม่ได้ขึ้นการบินไทย และอีกหลายคนก็ไม่ได้ขึ้นการบินไทย
ถ้าจะเอาเงินภาษีไปจ่ายต้องมีเหตุผลที่ดีกว่านี้
มีคนเป็นห่วง หลายคนพูดถึงเรื่องสหกรณ์การบินไทย สหกรณ์อื่น ๆ ที่มาลงทุนในการบินไทย จะมีผลกระทบยังไง ?
รณณรงค์
: สหกรณ์ทุกที่ ถ้าสมาชิกแห่ไปถอนเงินจะขาดสภาพคล่อง
อันนี้เหมือนกันทุกที่ ไม่แปลกใจที่วันนี้การบินไทยประกาศว่าให้ถอนเงินแค่ 3
แสน แต่ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจเขาเอาไปปล่อยกู้พนักงานการบินไทย
ถ้าพนักงานตกงาน แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาคืนสหกรณ์ อันนี้ต่างหากที่เขาห่วง
เลยแห่กันไปถอน
มีสหกรณ์อื่นที่มาลงทุนก็ตกใจไปด้วย ว่าเขาจะกระทบไหม ?
รณณรงค์
: การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงครับ
ถ้าเป็นคนขายเครื่องบิน แสดงว่าต่างชาติที่เป็นเจ้าหนี้จะเสียงดังมาก ?
รณณรงค์
: แผนที่เสนออาจไม่ผ่านก็ได้ ต้องรอดูว่าเขาปรับแผนขนาดไหน
หลังจากนี้คนไทยจะได้รู้ว่าจุดไหนที่การบินไทยทำเงินจริง ๆ
จุดไหนที่เป็นส่วนเกินของธุรกิจจริง ๆ
คุณสมศักดิ์เชื่อมั่นในบรรดาเจ้าหนี้แค่ไหน ?
สมศักดิ์ : เชื่อมั่นในเจ้าหนี้ที่จะมาดูแล เพราะเจ้าหนี้คือเจ้าของเงิน