x close

ทุ่มงบ 1.4 พันล้าน ทุบเสาหลักนำทาง 7 แสนต้น เป็นยางพารา ชี้ไม่ใช่การทุบทุกต้น


          คมนาคม ทุ่มงบ 1.4 พันล้าน เปลี่ยนเสาหลักนำทาง 7 แสนต้น เป็นรุ่นยางธรรมชาติ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมยืนยัน ไม่ได้ทุบทำใหม่ทุกต้นให้เปลืองงบ แต่ทำเฉพาะส่วนที่เสียหาย

เสาหลักนำทาง

          วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ไทยพีบีเอส รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า เตรียมนำยางพารามาเป็นส่วนผสมเปลี่ยนเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post) หรือ RGP ทั่วประเทศ เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่หลุดออกนอกทาง รวมถึงต้องการช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ

          ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุเชิงลึก ระหว่างปี 2560-2562 พบว่าสิ่งอันตรายข้างทางที่ผู้ขับรถมักหลุดออกไปชน ได้แก่

          1. สิ่งแวดล้อมข้างทาง เช่น ต้นไม้ รั้วบ้าน คันคลอง

          2. อุปกรณ์จราจร ได้แก่ หลักนำโค้ง เสาป้ายจราจร เสาไฟฟ้าแสงสว่าง

          นอกจากนี้ งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ พบว่า ถ้าหากเสียชีวิตจะมีความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย แต่ถ้าบาดเจ็บจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย

          ส่วนหลักนำทางที่ผลิตจากยางพารา มีต้นทุนการผลิตพร้อมติดตั้งที่ 2,500 บาทต่อหลัก ใน 1 โค้งจะใช้ประมาณ 14 หลัก คิดเป็นเงินเพียง 35,000 บาทต่อโค้งเท่านั้น ถ้าหากสามารถแปรเปลี่ยนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตกรณีที่รถเสียหลักชนหลักโค้งได้ ก็ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่คุ้มค่า

          ขณะเดียวกันจะมีการปรับเปลี่ยนเสาหลักนำทางทุกหลักทั่วประเทศ จำนวน 705,112 ต้น ให้เป็นเสาหลักยางพารา ให้เสร็จในปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณรวม 1,402.172 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2563 จำนวน 2 แสนต้น, ปี 2564 จำนวน 2 แสนต้น และปี 2565 จำนวน 3 แสนต้น

          อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การเปลี่ยนเสานี้ ไม่ได้ทุบเสาที่อยู่ในสภาพใช้งาน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกรณีที่ชำรุด เสียหาย สิ่งที่สร้างใหม่ หรือเป็นจุดเสี่ยงเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทุ่มงบ 1.4 พันล้าน ทุบเสาหลักนำทาง 7 แสนต้น เป็นยางพารา ชี้ไม่ใช่การทุบทุกต้น อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 18:12:40 20,144 อ่าน
TOP