เกร็ดความรู้ รับวันสุนทรภู่ แท้ที่จริงคือคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนระยอง พร้อมเผยทำไมคนเข้าใจผิด


          เปิดประวัติ สุนทรภู่ เป็นชาวกรุงโดยกำเนิด ไม่ใช่คนระยอง ใช้ความสามารถสร้างชื่อจนรุ่งเรือง และผกผันสู่จุดตกต่ำ ก่อนกลายเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

สุนทรภู่
ภาพจาก ไบรท์ทีวี

          เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก "สุนทรภู่" หรือ "พระสุนทรโวหาร" กวีเอกของไทย เนื่องจากท่านได้ฝากผลงานมากมายจนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก แต่คิดว่ายังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่เข้าใจว่า สุนทรภู่ เป็นชาวจังหวัดระยอง ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอันที่จริงแล้ว สุนทรภู่ เป็นคนกรุงเทพฯ ทำงานไต่เต้าจนได้กลายเป็นกวีเอกที่เป็นที่ยกย่องจนถึงปัจจุบัน

สุนทรภู่

กำเนิดสุนทรภู่

          สุนทรภู่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2325 เวลาเช้า 8 นาฬิกา ณ บริเวณที่เป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน นับเป็นเวลาหลังจากที่สร้างกรุงเทพฯ ได้ 4 ปี นายเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2538 ได้แต่งกลอนกล่าวถึงกำเนิดของสุนทรภู่อย่างสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า
"สุนทรภู่ครูของฉัน เกิดวันจันทร์ในปีม้า ยี่สิบหกมิถุนา เป็นเวลาสองโมงเช้า"


          นายฉันท์ ขำวิไล กล่าวถึงกำเนิดของสุนทรภู่ ใน 100 ปี ของสุนทรภู่ ว่า บิดามารดาของสุนทรภู่ จะมีชื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบแต่เพียงว่าบรรพบุรุษของทั้งฝ่ายบิดาและมารดาเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปู่ของสุนทรภู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะเป็นคหบดี หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้พาญาติและบิดาของสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นยังเล็กอยู่ อพยพลงมาตามสายของพระเจ้าตากสิน แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อพระเจ้าตากสินยกพลไปกู้อิสรภาพจนสามารถตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้แล้ว ปู่ของสุนทรภู่คงจะได้เข้ารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ต่อเมื่อสิ้นสมัยกรุงธนบุรี จึงได้กลับไปอยู่ที่ระยองตามเดิม ส่วนบรรพบุรุษทางฝ่ายมารดานั้น เป็นพวกที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน และมาตั้งหลักฐานอยู่ที่ธนบุรี มารดาของสุนทรภู่ก็คงเป็นชาวธนบุรีนี้เอง

สุนทรภู่

สาเหตุที่ทำให้คิดว่า สุนทรภู่ เป็นชาวระยอง

          สาเหตุหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดว่า สุนทรภู่เป็นคนบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อาจเป็นเพราะ นิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรก และเป็นนิราศเรื่องที่ยาวที่สุดของสุนทรภู่ (แต่ไม่ใช่งานเขียนเรื่องแรกของสุนทรภู่) นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2350 เพื่อบันทึกความรู้สึกนึกคิดระหว่างเดินทางไปพบบิดาที่บวชเป็นพระอยู่ที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง หลังจากที่พ้นโทษเหตุเพราะไปแอบรักใคร่กับ แม่จัน ซึ่งเป็นนางข้าหลวง บุตรหลานของผู้มีตระกูล จึงถูกลงโทษทั้งสองคน

          แม้สุนทรภู่เป็นผู้ที่มีความสามารถทางการแต่งกลอน มีผลงานที่โดดเด่นมากมาย ได้แก่ เรื่องโคบุตร (พ.ศ. 2345) เรื่องนิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2350) และเรื่องนิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) ความสามารถของสุนทรภู่นี้เองที่ช่วยส่งเสริมให้สุนทรภู่ได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษาในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคที่วรรณคดีประเภทร้อยกรองได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสูงสุด เนื่องจากบ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการทำศึกสงครามอย่างที่ปรากฏในรัชกาลก่อน ทั้งยังมีกวีที่มีความรู้ความสามารถหลายคน นอกจากนั้น องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นกวีและองค์ประมุขแห่งกวี โปรดการแต่งกาพย์กลอน ผู้ใดเชี่ยวชาญหรือมีความสามารถทางด้านนี้ก็ทรงโปรดปรานยกย่อง และสุนทรภู่ก็เป็นกวีผู้หนึ่งที่พระองค์ทรงโปรดปรานเป็นที่ยิ่ง

          แต่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ชีวิตของสุนทรภู่ก็ตกอับ ต้องระเหเร่ร่อนพเนจรไปตามที่ต่าง ๆ ก่อนที่ในช่วงท้ายของชีวิตจะมีโอกาสกลับมาได้ดีเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี อีกครั้งหนึ่ง

          สุนทรภู่เป็นกวีที่มีชีวิตอยู่ถึง 4 แผ่นดิน คือ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 มีชื่อเสียงลือเลื่องในสมัยรัชกาลที่ 2 ตกยากได้รับความทุกข์ลำเค็ญในสมัยรัชกาลที่ 3 สิ้นเคราะห์และถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ 4

สุนทรภู่
ภาพจาก dreamloveyou / Shutterstock.com

ผลงานของสุนทรภู่

"ประเภทนิราศ"

          - นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) แต่งหลังกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา

          - นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

          - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

          - รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น รำพันพิลาป จากนั้นจึงลาสิกขา

          - นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) เชื่อว่าแต่งหลังจากลาสิกขา และเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี

          - นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

"ประเภทนิทาน"

          - เรื่องโคบุตร

          - เรื่องพระอภัยมณี

          - เรื่องพระไชยสุริยา

          - เรื่องลักษณวงศ์

          - เรื่องสิงหไกรภพ

"ประเภทสุภาษิต"

          - สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว

"ประเภทบทละคร"


          - เรื่องอภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

          - ประเภทบทเสภา

          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

"ประเภทบทเห่กล่อม"

          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่อง คือ

          - เห่จับระบำ

          - เห่เรื่องพระอภัยมณี

          - เห่เรื่องโคบุตร

          - เห่เรื่องกากี

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ภาษาไทย By ครูพี่เจมส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดความรู้ รับวันสุนทรภู่ แท้ที่จริงคือคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนระยอง พร้อมเผยทำไมคนเข้าใจผิด อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2567 เวลา 15:59:39 23,473 อ่าน
TOP
x close