ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.คู่ชีวิต รักร่วมเพศจดทะเบียนสมรสได้ เผยสาระสำคัญ 9 ข้อ ดูเลย


         ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อคุ้มครองกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่งงานได้ จดทะเบียนสมรสได้ และมีบุตรบุญธรรมได้ ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมในสังคม เผยสาระสำคัญ 9 ข้อ ดูรายละเอียดที่นี่เลย !

 พ.ร.บ.คู่ชีวิต สมรสเท่าเทียม

         วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ไทยโพสต์ รายงานว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว มีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี


         สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้...

         1. คู่ชีวิต หมายความว่า บุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

         2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

         3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิต จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

         4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

         5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2)) และมีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้ตายต่อไป เช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

         6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

         7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่ง มาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้

         8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

         9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา 1606, 1652, 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

 พ.ร.บ.คู่ชีวิต สมรสเท่าเทียม

         ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้...

         1. กำหนดให้ชายหรือหญิง ทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้

         2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต

         3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

         นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบให้ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไข เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิตให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง

         ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย ในการส่งเสริมความเสมอภาคของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกัน ให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวเช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิก มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

         รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนสิทธิอื่น ๆ ที่อาจจะยังไม่มีเท่ากับการจดทะเบียนคู่สมรสชาย-หญิงนั้น เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการประเมินผลเพื่อพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ต่อไป รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

 พ.ร.บ.คู่ชีวิต สมรสเท่าเทียม

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.คู่ชีวิต รักร่วมเพศจดทะเบียนสมรสได้ เผยสาระสำคัญ 9 ข้อ ดูเลย อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 10:54:28 24,029 อ่าน
TOP
x close