วัดหมื่นล้าน เชียงใหม่ ยิ่งบูรณะยิ่งพัง วิหารวัดสมัย ร.6 ช่างกลับทาสีแดงทับภาพวาดโบราณ หายวับไปในพริบตา ด้านสำนักศิลปากร ยังไม่หมดหวัง มีโอกาสฟื้นฟูภาพวาดคืนมาได้ หากใช้การลอกสี
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Bos Za
วันที่ 27 กรกฎาคม 2563 เฟซบุ๊ก Bos Za ได้เขียนเรื่องราวการบูรณะพระวิหารวัดหมื่นล้าน ประตูท่าแพชั้นใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเดิมนั้นเป็นบานประตูที่ทำด้วยเทคนิคการทำลายรดน้ำ มีการจารึกเป็นตัวธรรมล้านนาว่า
"พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ แล จุลศักราช ๑๒๗๙ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๔ ได้สลางหน้ามุกวิหารหนังนี้ นิพพานปจฺจโยโหตุโนนิจจํ"
โดยบานประตูนี้ ทำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นบานประตูที่อายุไล่เลี่ยกับวัดอื่น ๆ ในเชียงใหม่หลาย ๆ ที่ ยิ่งเวลาผ่านไป ความเสื่อมโทรมเริ่มเข้ามา จึงต้องคัดลอกลายและเขียนขึ้นใหม่ ก่อนที่จะทำทับลงไปในงานเดิม
ทว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้น เมื่อคนที่ทำนั้นกลับเอาสีแดงทาทับลงที่ประตูทันที ทำให้งานโบราณและเรื่องราวในอดีตถูกลบเลือนหายสิ้น ไม่มีทางหวนคืนกลับมา
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Bos Za
ขณะที่ ข่าวช่องวัน รายงานว่า วิหารยังอยู่ระหว่างการบูรณะ มีการทำหลังคาใหม่และบานหน้าต่างใหม่รอบพระวิหารที่ทาสีแดง ส่วนบานประตูของวิหาร ก็เปลี่ยนจากสีแดงที่ถูกทาทับเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่หลงเหลือภาพวาดโบราณ มีป้ายบอกว่า กรุณาอย่าจับ สีประตูยังไม่แห้ง
เจ้าอาวาส กล่าวว่า ตัววิหารสร้างมานานแล้ว อยู่ในสภาพทรุดโทรม มีปลวกขึ้นทั้งบานประตู หน้าต่าง หลังคา ทางวัดจึงมีความคิดที่จะบูรณะให้กลับมาแข็งแรง บวกกับมีผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบูรณะ พร้อมติดต่อช่างให้มาดำเนินการ ทางวัดจึงทราบภายหลังว่ามีการทาสีแดงทับภาพวาดโบราณไปแล้ว
ด้าน นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องดูก่อนว่าการบูรณะครั้งนี้ ลอกลายแล้วทาสีทับ หรือทาสีทับไปเลยโดยไม่มีการคัดลอกลายทิ้ง ถ้าหากเป็นอย่างหลัง ยังพอมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ โดยจะใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ ใช้น้ำยาช่วยในการลบสีใหม่ออกไป ดึงภาพเก่ากลับคืนมา ซึ่งต้องพูดคุยกับทางวัดถึงรายละเอียดและความยินยอมอีกครั้ง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Bos Za
ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวช่องวัน