x close

นกแอร์ ยื่นศาลล้มละลายกลาง ฟื้นฟูกิจการ หลังหนี้ท่วมตัว แจง 5 ประเด็น ไม่ยอมแพ้ !


          นกแอร์ ยื่นศาลล้มละลายกลาง แบกรับภาระหนี้สินท่วมตัว ศาลรับฟื้นฟูกิจการแล้ว ได้พักชำระหนี้เจ้าหนี้ 312 ราย พร้อมทำหนังสือชี้แจง 5 ประเด็นสำคัญ ยืนยันไม่ยอมแพ้ จะพื้นฟูกิจการให้เสร็จก่อนการระบาดโควิด 19 ยุติลง

นกแอร์ล้มละลาย
ภาพจาก Nattanan Zia / Shutterstock.com

          วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยเอกสารท้ายคำร้องหนี้ ระบุว่า มีหนี้สินเป็นจำนวนแน่นอน ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ซึ่งหลังจากศาลรับคําร้อง ก่อให้เกิดสภาวะการพักชําระหนี้ (automatic stay) ตามมาตรา 90/12 โดยในบัญชีเจ้าหนี้ที่นกแอร์ได้ยื่นต่อศาลมีจำนวน 312 ราย 

          โดยเมื่อย้อนไป วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายรายรวมกันเป็นจำนวน 26,522,203,418 บาท ดังนี้

          - หนี้สินหมุนเวียน เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 2,720,000,000 บาท
          - เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 2,679,065,008 บาท
          - รายได้รอตัดบัญชีจากโปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า 41,812,871 บาท
          - ประมาณการหนี้สิน ค่าปรับสภาพเครื่องบิน และค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินระยะสั้น 58,858,927 บาท
          - ส่วนของหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 1,907,589,409 บาท
          - หนี้สินหมุนเวียนอื่น 98,591,347 บาท รวมหนี้สินหมุนเวียน 7,505,917,562 บาท
          - หนี้สินไม่หมุนเวียน ประมาณการหนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินตามแผนการซ่อมบำรุง ประมาณการหนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบิน 6,460,359,841 บาท

นกแอร์ล้มละลาย
ภาพจาก Sirakrit M / Shutterstock.com

          ขณะที่ ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ได้ทำหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณียื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง พร้อมชี้แจง 5 สาระสำคัญ ดังนี้...

1. บริษัท นกแอร์ ในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ เพราะบริษัทเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวของบริษัท ภายใต้การกำกับดูแลของศาล เพื่อให้กิจการของบริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

2. การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ บริษัท นกแอร์ ไม่ได้มีจุดหมายในการที่จะเลิก หรือชำระบัญชีบริษัท หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม บริษัทกลับมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่เป็นอย่างยิ่งในการที่จะดำเนินกิจการต่อไปให้มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง เพราะปัญหาในปัจจุบันของบริษัท ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้บริษัทเกิดข้อติดขัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ หากมีการปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน

3. การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัท นกแอร์ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม และบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้การบริการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศ

4. แนวทางเบื้องต้นของการพื้นฟูกิจการ คือ

          4.1 การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท

          4.2 การบริหารจัดการกิจการของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนพื้นฟูกิจการ เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล

5. บริษัท นกแอร์ ได้เสนอให้ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ นายปริญญา ไววัฒนา, นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัท เป็นผู้ทำแผน

          การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลง บริษัท นกแอร์ ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้โดยสาร ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า ลูกหนี้ เจ้าหนี้ พนักงาน บริษัท ผู้ลงทุน ประชาชน รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยบริษัทเล็งเห็นแล้วว่าในขณะนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวยังมีการเดินทางกันไม่มากนัก เพราะการระบาดของโควิด 19 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากกว่าในภาวะปกติ

          ทั้งนี้ บริษัท นกแอร์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องพื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาด COVID-19 จะยุติลง ซึ่งนั่นหมายถึงบริษัทจะมีความพร้อมอย่างเต็มที่และสามารถให้บริการอย่างดีเยี่ยม เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ บริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงความคืบหน้าอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นกแอร์ ยื่นศาลล้มละลายกลาง ฟื้นฟูกิจการ หลังหนี้ท่วมตัว แจง 5 ประเด็น ไม่ยอมแพ้ ! อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2563 เวลา 11:36:28 7,502 อ่าน
TOP