อย. แจงเอง โคเคน ไม่ได้ใช้ทำฟัน แต่ใช้ผ่าตัดจมูก-คอ มียาชาชนิดอื่นที่ได้ผลดีกว่า เผย ตรวจสอบการใช้ย้อนหลัง 10 ปี พบใช้แค่ 1 กก. ต่อปี
ภาพจาก สำนักข่าวไทย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ระบุถึงกรณีการพูดถึง โคเคน ที่นำมาใช้ในทางทันตกรรม ว่า
ปัจจุบันมีการใช้สารเสพติดทางการแพทย์ 2 กลุ่ม คือ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2
และ 4 โดยสารออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 มีอยู่ 20 ตัว อาทิ มอร์ฟีน โคเคน
โดยกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ อย. เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนมากจะพบว่ามีการใช้ในห้องผ่าตัดเฉพาะจุด โดยเฉพาะจมูกและคอ
ที่ผ่านมา อย. จัดส่งสารเสพติดที่ใช้ในการแพทย์ให้สถานพยาบาลตามการร้องขอ และทำรายละเอียดว่ามีการใช้จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละปีมีการใช้ปริมาณ 1 กิโลกรัม โดยข้อมูลปี 2562 มีการใช้ 0.5 กิโลกรัม ปี 2561 มีการใช้ 0.75 กิโลกรัม และปี 2560 มีการใช้ 1.2 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมียาชาตัวอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า หากครอบครองโคเคนโดยไม่มีใบอนุญาต จะเข้าข่ายมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย