ฮือฮา ! นักดาราศาสตร์ ค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์

          นักดาราศาสตร์ ค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ หลังค้นพบโมเลกุลของฟอสฟีน ชี้หากมีจริง สิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์อาจจะแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตใด ๆ บนโลกที่เรารู้จัก

ฮือฮา ! นักดาราศาสตร์ ค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์

          วันที่ 14 กันยายน 2563 เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย Jane Greaves จาก Cardiff University สหราชอาณาจักร เผยถึงการค้นพบโมเลกุลของฟอสฟีน ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy

          โดยดาวศุกร์นั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แฝดกับโลก เนื่องจากมีทั้งขนาดและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ที่ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกเพียง 30% แต่สภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ ทำให้ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเก็บกักความร้อนเอาไว้มหาศาล จนมีสภาวะอุณหภูมิพื้นผิวร้อนพอที่จะหลอมตะกั่วได้ นอกจากนี้ในชั้นบรรยากาศยังเต็มไปด้วยแก๊สของกรดกำมะถัน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งดาวศุกร์อาจเคยมีมหาสมุทรและมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้  

          แต่หากเราพิจารณาบนชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปแล้ว เราจะพบว่าที่ความสูงราว 50 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาวศุกร์นั้น กลับมีสภาพอากาศที่อ่อนโยน มีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส และอาจจะมีสภาพที่พอเหมาะกับสิ่งมีชีวิตได้ มีการคาดการณ์กันว่าชั้นเมฆในบรรยากาศของดาวศุกร์อาจจะมีองค์ประกอบทางเคมีเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

- นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาองค์ประกอบของดาวที่อยู่ห่างออกไปได้อย่างไร ?

          การจะศึกษาองค์ประกอบของวัตถุใดนั้นทำโดยการศึกษาสเปกตรัมที่วัตถุนั้นปลดปล่อยออกมา โมเลกุลแต่ละโมเลกุลนั้นจะมีการดูดกลืนหรือเปล่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เช่น แสง) ออกมาในช่วงคลื่นที่สอดคล้องกับระดับพลังงานของโมเลกุลนั้น ซึ่งระดับพลังงานเหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะ ขึ้นอยู่กับธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นโมเลกุลนั้น ๆ ดังนั้น หากเราสามารถสังเกตสเปกตรัมในการดูดกลืนของวัตถุที่อยู่ห่างออกไป ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องกับโมเลกุลของสารที่เราสามารถวัดได้ในห้องทดลองบนโลก หากเราพบการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตรงกับโมเลกุลของฟอสฟีนจากสเปกตรัมที่ได้มาจากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่าในชั้นบรรยากาศนั้นมีโมเลกุลของฟอสฟีนอยู่

- ฟอสฟีนคืออะไร สำคัญอย่างไร ?

          ฟอสฟีน (Phosphine) เป็นโมเลกุลที่เป็นสารประกอบระหว่างธาตุฟอสฟอรัสและไฮโดรเจน บนโลกนั้นฟอสฟีนมีสถานะเป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไวไฟ และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การค้นพบฟอสฟีนบนดาวดวงอื่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากนั้น เนื่องจากบนโลกนั้นฟอสฟีนมีแหล่งกำเนิดเพียงแค่ 2 แหล่ง คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม หรือเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน

- เท่ากับว่าเราค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์หรือไม่ ?

          การค้นพบฟอสฟีนในปริมาณที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกตามธรรมชาตินั้น ทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาทฤษฎีการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังห่างไกลจากการยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตพอสมควร แต่การจะยืนยันว่าดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลอีกมาก แม้ว่าชั้นบรรยากาศตอนบนของดาวศุกร์อาจจะมีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส แต่ชั้นบรรยากาศในบริเวณนี้ก็ยังเต็มไปด้วยกรดกำมะถันกว่า 90% ซึ่งเรายังไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตใดบนโลกที่สามารถอยู่รอดในสภาวะเช่นนั้นได้

          ทั้งนี้ หากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีสิ่งมีชีวิตจริง ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์นั้นอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสิ่งมีชีวิตใด ๆ บนโลกที่เรารู้จัก แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าฟอสฟีนที่พบอาจจะเป็นเพียงผลผลิตจากปฏิกิริยาเคมีแบบใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก การค้นพบแหล่งที่มาของฟอสฟีนบนดาวศุกร์ในอนาคตอาจจะทำให้เราต้องมาพิจารณานิยามของสิ่งที่เราเรียกว่าสิ่งมีชีวิตขึ้นเสียใหม่ก็เป็นได้ และไม่ว่าเราจะพบสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์หรือไม่ การค้นพบนี้ย่อมเท่ากับเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ในการหาสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮือฮา ! นักดาราศาสตร์ ค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2563 เวลา 22:50:09 25,973 อ่าน
TOP
x close