เปิดความหมาย หมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมือง ร่องรอยการต่อสู้ประชาธิปไตย

          เปิดที่มา "หมุดคณะราษฎร" สัญลักษณ์สำคัญทางการเมือง ร่องรอยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่มีมาตั้งแต่อดีต และไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกผู้มีอำนาจถอดออกไป 



          หลังจากเช้าตรู่ของวันที่ 20 กันยายน 2563 แกนนำผู้ชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ได้ร่วมกันประกอบพิธีปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ในนาม คณะราษฎร 2563 ซึ่งการปักหมุดคณะราษฎร เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ทิ้งร่องรอยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย 

อ่านข่าว : เปิดภาพหมุดคณะราษฎร 2 ทำพิธีฝังกลางพื้นสนามหลวง สาปแช่งคนคิดรื้อถอน

หมุดคณะราษฎร
ภาพจาก เฟซบุ๊ก iLaw

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ Bright TV ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับความหมายและที่มาของการปักหมุดคณะราษฎร ว่า หมุดคณะราษฎร หรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย มีพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 มีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และหัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้ฝังหมุด

          โดยหมุดเดิมมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"


          ที่ผ่านมา หมุดคณะราษฎร ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง ในอดีตเคยหายไปจากที่ตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2503 ซึ่งมีคำสั่งให้ย้ายหมุดดังกล่าวไป แต่ได้มีการนำกลับมาไว้ที่เดิมในสมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2506 หลังจอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม โดยหมุดดังกล่าว นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้น เห็นความสำคัญ จึงนำหมุดไปเก็บไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร

          ต่อมาเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 หมุดคณะราษฎรกลับมาอีกครั้ง โดยมีฉายาว่า "หมุดหน้าใส" มีข่าวว่าหมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน และหมุดใหม่มีข้อความว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน"

          จากการเปลี่ยนหมุดใหม่ในครั้งนั้น หลายกลุ่มออกมาแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากข้อความดังกล่าวนั้นสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีให้บ้านเมือง แต่กลับไม่มีวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า อีกทั้งยังขัดกับข้อความในหมุดเก่า จึงมีความพยายามที่จะทวงถามไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แชร์สนั่น ! หมุดคณะราษฎร ระลึกเหตุการณ์ 2475 ถูกเปลี่ยนเป็นข้อความใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รวบ ศรีสุวรรณ จรรยา หลังพยายามยื่นนายกฯ ทวงคืนหมุดคณะราษฎร


ขอบคุณข้อมูลจาก Bright TV

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดความหมาย หมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมือง ร่องรอยการต่อสู้ประชาธิปไตย อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2563 เวลา 22:53:24 12,251 อ่าน
TOP
x close