ผีตองเหลือง คืออะไร ? ทำความรู้จักชนเผ่ามลาบรี ชนเผ่าที่ถูกขนานนามว่าผีตองเหลือง สรุปเป็นคนหรือผี มีที่มาอย่างไร พบเป็นชนเผ่าลึกลับในถิ่นภาคเหนือ
ภาพจาก เว็บไซต์ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อ่านข่าว : กู้ภัยหนีบศพผีตองเหลือง ซ้อนมอเตอร์ครอสลงเขา หลังพลาดโดนไม้กระดานหนีบคอตาย
ข่าวนี้ทำให้ชื่อของชนเผ่ามลาบรี หรือ ผีตองเหลือง กลับมาถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งหลายคนสงสัยว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร ทำไมถึงถูกขนานนามว่าเป็นผีตองเหลือง กระปุกดอทคอม จะพาไปทำความรู้จักกลุ่มชนเผ่านี้กัน...
มลาบรี สามารถแบ่งความหมายของชื่อได้คือ มละ แปลว่า คน (คำนี้ต้องอ่านควบกันทั้ง 2 พยางค์ทีเดียว) เป็นคำที่พวกเขาใช้เรียกชนเผ่าตนเอง ส่วนคำว่า บรี หมายถึง ป่า ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งมาเพิ่มตอนหลัง ๆ จึงทำให้เกิดคำว่า มลาบรี หมายถึง คนป่า แต่ชนเผ่านี้อยากให้เรียกพวกเขาว่า "ชนเผ่ามละ" ที่หมายถึง คน ไม่ใช่ มลาบรี ที่หมายถึง คนป่า เพราะพวกเขาไม่ใช่คนป่า เพียงแต่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าเท่านั้น
โดยชนเผ่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ดั้งเดิม เป็นกลุ่มชนเร่ร่อนไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดไซยะบุรี ประเทศลาว ต่อมาเริ่มอพยพไปอยู่แถบภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ, แถบภูกระดึง จังหวัดเลย ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเวียงสา และอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน และกระจัดกระจายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตจังหวัดแพร่ รวมถึงตามดอยสูงในป่าทางภาคเหนือของประเทศไทย
ที่มาของคำว่า ผีตองเหลือง ที่ใช้เรียกชนเผ่า มลาบรี คำนี้ไม่ใช่คำที่ชนเผ่าอยากได้ยิน
กระทั่งภายหลังเริ่มมีคำว่า "ผีตองเหลือง" เป็นคำที่คนภายนอกตั้งให้ ซึ่งพวกเขาไม่ค่อยชอบนัก เพราะพวกเขาคือมนุษย์ ไม่ใช่ผี โดยคำนี้สืบเนื่องจากชนเผ่านี้จะมีการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ได้ 2-3 วัน ผู้นำครอบครัวจะคุยกัน บางครั้งการย้ายไม่ใช่ว่าอาหารในป่าหมด แต่เป็นเพราะเกรงกลัวมนุษย์จะไปรุกราน ฉะนั้นเมื่อมีคนแปลกหน้าหรือได้ยินเสียงคนเข้าใกล้เขตที่พวกเขาอยู่ ก็จะพาครอบครัวหลบหนีอย่างว่องไว โดยทิ้งไว้แค่เพิงพักอาศัยที่มุงด้วยใบตอง จากใบตองสีเขียวสดก็เริ่มเหลืองและแห้ง ประกอบกับการชอบหายตัวอย่างว่องไวเมื่อเผชิญกับคนแปลกหน้า จึงเป็นที่มาของคำว่า "ผีตองเหลือง"
สาเหตุที่ มลาบรี กลัวคนนั้น เล่ากันว่าเมื่อก่อนเคยมีญาติพี่น้องของพวกเขาถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา จึงทำให้พวกเขาเกรงกลัวคนมาก ต้องย้ายไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นที่เป็นแหล่ง ไม่กล้าส่งเสียงดัง ไม่กล้าสุมไฟเป็นกองใหญ่ ส่วนเรื่องอาหารการกิน จะหาของป่ากินเป็นอาหาร เช่น เผือก มัน กล้วย หน่อไม้ สัตว์ป่า ผึ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ พวกเขาได้รับการปลูกฝังจากบรรพชนมาเป็นเวลาช้านานว่า หากอยู่เป็นหลักแหล่งโดยไม่โยกย้ายไปไหน ผีร้ายจะส่งเสือให้มาคร่าทำลายพวกเขา จึงต้องย้ายที่อยู่เกือบทุก 5-10 วัน ซึ่งการปฏิบัติตามความเชื่อนี้สอดคล้องกับหลักความสมดุลและหลักทางวิชาการบางประการ นั่นคือ อาหารที่มีอยู่รอบบริเวณที่พักลดน้อยลง ก็จะย้ายไปหาที่อยู่แห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า
กรณีสมาชิกเสียชีวิต ญาติพี่น้องจะช่วยกันทำศพ โดยนำศพไปวางบนแคร่ที่สร้างไว้บนต้นไม้ใหญ่เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย เช่น ไม่ให้เสือมาขุดคุ้ยกินศพ เพราะเชื่อว่าถ้าเสือได้กินศพแล้วอาจติดใจ และจำกลิ่นเนื้อคนได้ ต่อมาพบว่ามีการฝังศพแทนการทิ้งศพดังกล่าว และภายหลังจากการฝังศพจะโยกย้ายที่อยู่อาศัยทันที ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของวันก็ตาม
ชนเผ่านี้รูปร่างเล็กแต่แข็งแรง บ้างว่าเหมือนคนภาคเหนือแต่ผิวคล้ำกว่า เครื่องนุ่งห่มมีแต่ผ้าเตี่ยวหรือผ้านุ่ง ใส่เวลาต้องเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเอาของป่ามาแลกกับข้าวสาร เกลือ และของใช้ที่จำเป็น เช่น มีดหรือหอก เพราะโดยปกติหากอยู่ในกลุ่มพวกพ้อง พวกเขาจะเปลือยกาย
ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของมลาบรี คือ
ชายหญิงทุกคนต้องเจาะหูทั้ง 2 ข้างตั้งแต่เด็ก รูหูที่เจาะมีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่เหลาปลายแหลม แทงไปบริเวณติ่งหู
สมัยก่อนมักจะนำดอกไม้มาเสียบประดับร่างกาย
และเวลาเจอกันก็ให้ดูสัญลักษณ์ที่ใบหูว่าเจาะรูหรือไม่
เพื่อให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
วิถีชีวิตดั้งเดิมของ มลาบรี : จากอยู่ในป่า สู่การทำอาชีพสมัยใหม่
มลาบรี สมัยอาศัยอยู่ในป่า ไม่ได้ทำอาชีพอะไร หาของป่ากินไปเรื่อย ๆ กระทั่งภายหลังย้ายลงมาอาศัยอยู่กับชนเผ่าม้ง มีการรวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน มีป้ายทางเข้าชุมชนว่า "ชุมชนมลาบรี (เผ่าตองเหลือง)" สร้างบ้านพักด้วยไม้และสังกะสี มีการรับจ้างทำไร่ ทำสวน ได้ค่าตอบแทนเป็นข้าวปลาอาหารบ้าง สัตว์เลี้ยงบ้าง แต่ปัจจุบัน ชนเผ่ามละเริ่มหันมาทำไร่ ปลูกข้าว, ข้าวโพด เรียนรู้การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ จากชนเผ่าม้ง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้กินเองและขายบ้าง
นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมคือ งานถักเปล
ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดแพร่
ปัจจุบันนี้ ประมาณกันว่าจำนวนของชนเผ่านี้ในประเทศไทยมีไม่เกิน 150 คน
จึงนับว่าพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนน้อยที่สุดในประเทศไทย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก แพร่โพสต์ แพร่ ทุกโพสต์ ที่โดนใจ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก แพร่โพสต์ แพร่ ทุกโพสต์ ที่โดนใจ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก แพร่โพสต์ แพร่ ทุกโพสต์ ที่โดนใจ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก แพร่โพสต์ แพร่ ทุกโพสต์ ที่โดนใจ