สดร. เชิญชวนประชาชนดู ดาวเคียงเดือน คืนนี้ กับปรากฏการณ์ ดาวพฤหัสบดี - ดาวเสาร์ เคลื่อนตัวเข้าใกล้กัน มาอยู่เคียงข้างดวงจันทร์ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
วันที่ 25 กันยายน 2563 NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า
คืนนี้มี "ดาวเคียงเดือน" โดยดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์
เคียงดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 ค่ำ ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศใต้
หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลา 18:30 น. เป็นต้นไป
หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ถ้าลองสังเกตท้องฟ้าในช่วงนี้ จะเห็นดาวพฤหัสบดี กับดาวเสาร์ ค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้กันเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ช่วงนั้นดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวง จะปรากฏใกล้กันมากที่สุด ดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า ปรากฏการณ์ "The Great Conjunction" ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะใกล้กันมากที่สุดในรอบกว่า 397 ปี
เมื่อถึงตอนนั้น
มองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้ง 2
ปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน
เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากมากทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ