x close

ชุมชนมลาบรี ชี้หญิงถูกไม้กระดานหนีบไม่ใช่สมาชิกเผ่า วอนอย่าเรียก ผีตองเหลือง

           ชุมชนมลาบรี ออกแถลงการณ์ ยันหญิงถูกไม้กระดานหนีบไม่ใช่สมาชิกเผ่า วอนอย่างเรียก ผีตองเหลือง ยันไม่เคยปรากฏชุมนุมมลาบรีใน จ.อุตรดิตถ์

ไม้กระดานหนีบตาย
          จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำศพผู้หญิงชนเผ่าผีตองเหลืองวัย 70 ปี ซ้อนมอเตอร์ไซค์ลงจากเขา หลังจากที่หญิงคนดังกล่าวถูกไม้กระดานหนีบคอตาย ขณะเข้าไปขโมยอาหารในกระท่อมทางเข้าห้วยจำตอง หมู่ 1 ต.นานกกก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว : กู้ภัยหนีบศพผีตองเหลือง ซ้อนมอเตอร์ครอสลงเขา หลังพลาดโดนไม้กระดานหนีบคอตาย

          ล่าสุดวันที่ 26 กันยายน 2563 ไทยพีบีเอส รายงานว่า ชุมชนมลาบรี บ้านห้วยลู่ ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงในห้าประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า ข่าวที่ออกไปส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชนเผ่ามลาบรีทั้ง 5 ชุมชน สำหรับชาวมลาบรี มีถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยอยู่ใน จ.น่านและจ.แพร่ ประชากรทั้งหมด 450 คน และในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาวอีก 22 คน โดยไม่เคยปรากฏว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ยกเว้นเอกสารในอดีตเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่ามีชุมชนมลาบรีใน จ.อุตรดิตถ์ หรือจังหวัดอื่น โดยชุมชนมลาบรีใน 5 หมู่บ้าน มีรายชื่อดังต่อไปนี้

ไม้กระดานหนีบตาย
          1. บ้านห้วยลู่ อ.เมือง จ.น่าน
          2. บ้านห้วยหยวก อ.เวียงสา จ.น่าน
          3. ชุมชนมลาบรีภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
          4. บ้านท่าวะ อ.สอง จ.แพร่
          5. บ้านห้วยฮ่อม อ.ร้องกวาง จ.แพร่

          ทั้งนี้ คำว่า "ผีตองเหลือง" เป็นคำที่ใช้เรียกในลักษณะของความเข้าใจผิด หรืออคติทางชาติพันธุ์ คำเรียกนี้ถือว่าดูถูก และลดทอนความเป็นมนุษย์ ควรเรียกว่า "มลาบรี" ที่แปลว่า "คนป่า" เพราะเป็นคนที่อยู่กับป่า ไม่ใช่ผีใช่สางแต่อย่างใด

          ส่วนความคิดที่เข้าใจว่า การอยู่อาศัยทำเพิงใบไม้จนเพิงเหี่ยวเป็นสีเหลืองถึงจะย้ายที่อยู่ จนมีความเข้าใจว่าเป็นชนเผ่าตองเหลืองนั้น คำว่า "ตอง" ภาษาเมืองแปลว่าใบไม้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวมลาบรีจะอาศัยอยู่ในเพิงใบไม้โดยไม่ต้องรอให้เหี่ยวหรือเหลืองก็ได้ ขึ้นอยู่กับทรัพยากรและความปลอดภัยในพื้นที่เป็นหลัก

ไม้กระดานหนีบตาย
          ทั้งนี้ ทางชนเผ่ามลาบรีนั้นไม่ชอบที่ถูกเรียกว่าเป็นผีสาง จึงอยากให้สื่อที่นำเสนอ หาข้อมูลให้รอบด้าน และรับผิดชอบต่อประเด็นการนำเสนอดังกล่าว ซึ่งคำว่า ผีตองเหลือง ในภาษาพื้นเมืองในอดีตจะมีคำพูดติดปากว่าผีตองเหลือง ที่ไม่ใช่ความหมายถึงชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิต คนเร่ร่อน คนสมัยก่อนในชนบทภาคเหนือจะเรียกว่า บ้าผีตองเหลือง แต่คำเรียกนี้ไม่ได้หมายถึงชนเผ่าที่มีวิถีภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ทางวิถีชีวิตที่เรียกว่า วัฒนธรรมเก็บหาของป่าล่าสัตว์ (hunting-gathering culture)

          ส่วนกรณีหญิงที่เสียชีวิตนั้น ขณะนี้พี่น้องมลาบรีทั้ง 5 พื้นที่ ยืนยันว่าไม่มีญาติพี่น้อง หรือเป็นคนที่รู้จัก เสียชีวิตแต่อย่างใด จึงมีข้อสงสัยว่าในเมื่อข่าวระบุว่าไม่ทราบชื่อผู้เสียชีวิตและไม่พบบัตรประจำตัวประชาชน ทำไมสื่อมวลชนหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ จึงระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นผีตองเหลือง

ไม้กระดานหนีบตาย
          นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าชาวมลาบรีเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีนิสัยลักเล็กขโมยน้อย โดยเลือกจะยอมทำงานรับจ้างจนตายในไร่ มากกว่าจะไปลักขโมย การนำเสนอข่าวดังกล่าวจึงเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้ชาวมลาบรีอย่างมาก จึงขอให้ผู้ให้ข้อมูลและผู้นำเสนอข่าวแสดงความรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าว

          นอกจากนี้ยังขอเตือนว่า ขณะนี้ได้มีผู้อาศัยโอกาสนี้เปิดรับบริจาคช่วยเหลือกลุ่มมลาบรี ซึ่งไม่เป็นความจริง ปัจจุบันชาวมลาบรีมีโครงการพระราชดำริฯ และได้รับความช่วยเหลือจากกรมป่าไม้ที่ช่วยเหลือพี่น้องมลาบรีในหลายพื้นที่

          พร้อมยืนยันว่าปัจจุบันชาวมลาบรีไม่ใช่ชนเผ่าที่น่าสงสาร แต่เป็นชนเผ่าที่มีศักดิ์ศรี และมีชีวิตที่มั่นคงในระดับหนึ่ง และไม่ได้น่าเวทนาเหมือนที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชุมชนมลาบรี ชี้หญิงถูกไม้กระดานหนีบไม่ใช่สมาชิกเผ่า วอนอย่าเรียก ผีตองเหลือง อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2563 เวลา 17:29:53 15,238 อ่าน
TOP