กาชาดชี้แจงต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิต ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยในการรักษาทั่วประเทศ ยันไม่ได้จำหน่ายโลหิตบริจาค

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้บริการโลหิตและส่วนประกอบโลหิตแก่โรงพยาบาล เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโดยมิได้จำหน่ายหรือคิดค่าโลหิต ซึ่งได้รับจากการบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนของผู้บริจาคโลหิตทั่วประเทศ
เพื่อให้การซื้อ-ขายโลหิตในประเทศหมดไปตามหลักการขององค์การอนามัยโลก และหลักการกาชาดสากล ตามปณิธานที่สภากาชาดไทยเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทั้งนี้ จะมีค่าต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในการรับบริจาคโลหิต เช่น ถุงบรรจุโลหิต หลอดเก็บตัวอย่างโลหิต น้ำยาตรวจค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) น้ำยาตรวจหมู่เลือด เป็นต้น
2. ค่าใช้จ่ายการผลิตส่วนประกอบโลหิต ในการปั่นแยกโลหิตให้เป็นส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Packed red cells) พลาสมา (Plasma) เกล็ดเลือด (Platelets) เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ค่าตรวจหมู่โลหิตเอบีโอ (ABO grouping) การตรวจหมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rh) ค่าตรวจกรองแอนติบอดี (Antibody screening) ค่าตรวจภาวะการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด (Transfusion-transmissible infection) ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชไอวี และซิฟิลิส โดยการตรวจวิเคราะห์ทางซีโรโลยี และวิธี Nucleic Acid Test (NAT)
4. ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ และการขนส่ง เช่น ตู้เย็นเก็บเม็ดเลือดแดง 1-6 องศาเซลเซียส ตู้เก็บเกล็ดเลือด 20-24 องศาเซลเซียส ที่ต้องเขย่าตลอดเวลา ตู้แช่แข็งพลาสมา -20 องศาเซลเซียส เป็นต้น อีกทั้งต้องรักษาอุณหภูมิของส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน Blood cold chain ตลอดระยะเวลาขนส่งจากต้นทางจนถึงปลายทาง
5. ค่าใช้จ่ายในการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ตามระบบ ISO และ GMP ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่ รถออกหน่วยเคลื่อนที่ เครื่องมือครุภัณฑ์ บุคลากร สาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และค่าดำเนินการสนับสนุนอื่น ๆ ที่รวมแล้วจะสูงกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ โดยส่วนที่ขาดศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะรับผิดชอบทั้งหมด ประกอบกับได้รับงบประมาณดำเนินการบางส่วนจากรัฐบาลมาช่วยเหลือ
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มิได้จำหน่ายโลหิตบริจาค แต่มีการคิดค่าใช้จ่ายตามต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิตในการรักษา โดยกำหนดค่าบำรุงน้ำยาและอุปกรณ์ในการจัดเตรียมโลหิตให้โรงพยาบาลเป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน
"โลหิตบริจาคไม่ใช่ของซื้อ-ขาย ด้วยมีค่าสูงสุดจากน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่มิอาจประเมินค่าได้"