ส่องสุดยอดสิ่งประดิษฐ์จากแนวคิดเจ๋ง ๆ ที่น่าสนใจของคนไทย จากบัญชีนวัตกรรมกลุ่ม ปตท. สร้างสรรค์ ใช้งานได้จริง แถมนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับประเทศได้
“คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” ประโยคนี้ไม่เกินจริงเลยสักนิด โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่หลายองค์กรพยายามคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด หนึ่งในนั้นก็คือ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ครอบคลุมในทุกแนวคิดถึง 29 รายการ และได้นำมาจัดทำเป็น “บัญชีนวัตกรรมกลุ่ม ปตท.” เปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษารายละเอียด แลกเปลี่ยนความรู้ และจัดซื้อจัดจ้างได้สะดวก ซึ่งวันนี้เราได้นำบางส่วนมาแนะนำให้รู้จัก จะน่าสนใจขนาดไหน ตามมาดูกันได้เลย
Heavy Duty Cleaner : ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
ในธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ขจัดคราบ และฟลัชวาล์ว (Flushing Valve) จากต่างประเทศที่มีราคาสูง ทางทีมวิจัยของ ปตท. จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “Heavy duty cleaner” ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบสูตรล้ำลึกชนิด Oil Base มีประสิทธิภาพในการทำละลายสูง ปกป้องพื้นผิวจากความชื้น และกำจัดสิ่งสกปรกตกค้าง เช่น คราบเหนียว คราบน้ำมันเครื่อง และคราบยางมะตอย ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ไม่กัดกร่อนโลหะ ไม่มีส่วนผสมของกรด-เบส ช่วยให้เครื่องจักรในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ กลับมาทำงานได้ดีขึ้น มีราคาถูกลง และลดการนำเข้าได้ ยิ่งไปกว่านั้น คนทั่วไปก็สามารถนำไปใช้งานทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านได้อีกด้วย
Nong Pim Air Detector : เครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5
นวัตกรรมใหม่ที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพอากาศและวัดปริมาณฝุ่นละอองได้ทั้งในและนอกอาคาร เช็กค่า PM2.5 ได้แม่นยำ ทำงานด้วยระบบ Smart Sensor ส่งข้อมูลผ่านเทคโนโลยี Laser Scattering ก่อนแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวเครื่องกะทัดรัด น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย ปัจจุบันทางกลุ่ม ปตท. ได้ติดตั้งและทดลองใช้แล้วกว่า 60 จุด และคาดว่าจะขยายผลต่อไปอีกในอนาคต
EV Wall Charger : สถานีชาร์จรถไฟฟ้าติดตั้งในที่อยู่อาศัย
เทรนด์การใช้รถไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (Electric Vehicle Car) กำลังเป็นที่จับตามอง แต่ในปัจจุบันสถานีชาร์จไฟยังมีไม่มากนัก ทีมนักวิจัย ปตท. จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “EV Wall Charger” แบบ AC Normal Charge ต้นแบบสำหรับติดตั้งบนผนังที่อยู่อาศัยหรืออาคารจอดรถ ใช้ได้กับรถ PHEV และ BEV จ่ายพลังงานผ่านหัว TYPE 2 กำลังไฟฟ้า 3.5-7 กิโลวัตต์ มีระบบกันไฟรั่ว ไฟเกิน ไฟกระชาก ใช้งานและเก็บข้อมูลผ่านบัตร RFID และแอปพลิเคชัน ช่วยให้จัดการพลังงานและค่าใช้จ่ายง่ายขึ้น และผ่านการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย 2020 เรียบร้อยแล้ว ใครที่สนใจรถประหยัดพลังงานแห่งอนาคตต้องถูกใจสิ่งนี้
Coffee Chaff Compound : ผลิตภัณฑ์จากเยื่อกาแฟ
คาเฟ่อเมซอนยืนหนึ่งเรื่องรักษ์โลก ร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันนวัตกรรม ปตท. นำเยื่อกาแฟที่เหลือจากโรงคั่วผสมรวมกับพลาสติกได้เป็นเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ ผิวสัมผัสเหมือนไม้ มีสีน้ำตาล แล้วนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ลดต้นทุนการผลิต ลดปริมาณของเสีย พร้อมเพิ่มมูลค่าไปในตัว เช่น “BIOCOFF” เยื่อกาแฟผสมไบโอพลาสติก ย่อยสลายได้ 100% ภายใน 5 ปี ด้วยการฝังกลบ “PLASCOFF” เยื่อกาแฟผสมพลาสติกทั่วไป (Commodity Plastic) ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารได้ และ “RPLASCOFF” เยื่อกาแฟผสมพลาสติกที่รีไซเคิลได้
The Soothsayer : เครื่องมือพยากรณ์ความเสียหาย ความผิดปกติของเครื่องจักรและอุปกรณ์ล่วงหน้า
เครื่องจักรชำรุดฉุกเฉินเป็นอุบัติเหตุในโรงงานที่เกิดได้บ่อยและสร้างความเสียหายได้มาก จึงเป็นที่มาของ “The Soothsayer” ระบบที่ใช้ในการทำนายความเสียหายและพฤติกรรมผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ล่วงหน้า ผ่านเทคนิคการทำนายจากข้อมูลเชิงสถิติ (Big data) นำข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของเครื่องจักรมารวบรวมเป็น Machine Learning ในการจดจำและส่งผลออกมาเป็นชุดข้อมูลที่สร้างขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะวิเคราะห์และแจ้งเตือนถึงความผิดปกติได้ล่วงหน้า และยังช่วยหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้
AUTOMATIC FOOD WASTE COMPOSTER : เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารเป็นวัสดุบำรุงดิน
ปัญหาของขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นจากครัวเรือน ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เกต หรือโรงแรมต่าง ๆ มักไม่ได้นำกลับไปสร้างประโยชน์มากเท่าที่ควร ซึ่งนวัตกรรมเครื่องย่อยสลายเศษขยะอัตโนมัตินี้ จะใช้กระบวนการทางชีวภาพ นำจุลินทรีย์สูตรเอนไซม์ที่มีคุณภาพสูงเข้ามาช่วยย่อยสลายเศษอาหาร ให้กลายมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินภายใน 12 ชั่วโมง นำไปบำรุงต้นไม้ได้ มีแร่ธาตุครบถ้วน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
L-Cement : ซีเมนต์ผสมพลาสติกชีวภาพจากยางธรรมชาติ
วัสดุคอมโพสิตระหว่างซีเมนต์และพลาสติกชีวภาพที่สังเคราะห์มาจากยางธรรมชาติ นิยมนำมาทำเป็นของใช้ เช่น โคมไฟ กระถางต้นไม้ และของแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์ เพราะให้ผิวสัมผัสและลักษณะเหมือนซีเมนต์เป๊ะ แต่ขึ้นรูปได้เร็วและง่ายกว่าด้วยกระบวนการฉีดพลาสติกทั่วไป (Injection Molding) สามารถเติมสี เติมสาร และเติมโพลีเมอร์ชนิดอื่นเข้าไปได้ น้ำหนักเบา ครีเอตได้หลากหลาย แข็งแรง ทนทาน ทนกระแทก ทนตัวทำละลายไม่มีขั้ว ที่สำคัญมีส่วนผสมของพลาสติกชีวภาพ สามารถนำกลับมารีไซเคิล หลอมและขึ้นรูปใหม่ได้ด้วย
Impregnated Activated Carbon : ถ่านกัมมันต์เคลือบสารเคมี
ถ่านกัมมันต์เคลือบสารเคมี (Impregnated Activated Carbon) เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเพื่อนำไปใช้บำบัดกลิ่นเหม็นในอากาศที่มาจากระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงานจำพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCS) และก๊าซไข่เน่า หรือก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ได้มากกว่า 99% ผลิตจากกะลามะพร้าว มีลักษณะเป็นเม็ดหยาบ ๆ เล็ก ๆ (Granule) ทำหน้าที่ดูดซับสารต่าง ๆ ผ่านผิวหนังด้วยพันธะทางเคมี และยังนำกลับมาประยุกต์ใช้ใหม่ได้ด้วยกระบวนการฟื้นฟู
Observation-Class : ยานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล
จากเดิมการตรวจสอบอุปกรณ์ใต้ทะเลลึก เช่น ขาแท่นผลิต ท่อส่งปิโตรเลียม ต้องใช้ยานยนต์ใต้น้ำที่มีแขนกลขนาดใหญ่และต้องใช้เรือในขณะปฏิบัติการ มีค่าใช้จ่ายสูง จึงนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรม “ยานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล” สามารถปล่อยและควบคุมได้จากแท่นผลิตโดยตรง คล่องตัว ลดต้นทุน และมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบหลังเกิดภัยธรรมชาติได้ด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมจากมันสมองคนไทย ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและช่วยให้ประเทศก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งหากใครอยากทำความรู้จักกับนวัตกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม ปตท. ให้มากขึ้น ต้องการศึกษาข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ และทำการซื้อ-ขาย ก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ PTT Group Innovation Catalog บอกเลยว่ายังมีแนวคิดเจ๋ง ๆ ให้ติดตามอีกมากมาย
ขอบคุณข้อมูลจาก
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)