LNG ก๊าซธรรมชาติเหลว : การเดินทางของพลังงานสะอาดมากประโยชน์ จากฟอสซิลสู่เชื้อเพลิง

พาย้อนดูเส้นทางก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ตั้งแต่แหล่งที่ขุดพบจนถึงการนำไปใช้ พลังงานสำคัญของคนไทย กับประโยชน์มากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้

ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติเหลว

“ก๊าซธรรมชาติ” ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้อยู่ใกล้ตัวและมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเราไม่น้อย ซึ่งในประเทศไทยก็ได้นำประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการ เพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย อาทิ ก๊าซ NGV, LPG และ LNG ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ นำไปผลิตเม็ดพลาสติก แม้แต่ดรายไอซ์ หรือน้ำแข็งแห้ง ก็ล้วนมาจากก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลวมากประโยชน์ ที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และนำไปทำอะไรได้บ้าง ตามไปดูกันเลย… 

ก๊าซ LNG พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ คืออะไร ?

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ “ก๊าซธรรมชาติเหลว” คือ ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านการคัดแยกสิ่งแปลกปลอมและองค์ประกอบต่าง ๆ ออก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถัน เพื่อให้เหลือก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก จึงไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีสารพิษ ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อเกิดการรั่วไหลก็จะระเหยกลายเป็นไอทันที ทำให้ติดไฟยาก ไม่ทิ้งสารตกค้างในดิน น้ำ และอากาศ จากนั้นนำไปแปรสภาพเป็นของเหลวเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง แล้วจึงเปลี่ยนกลับมาเป็นก๊าซอีกครั้งก่อนส่งต่อไปใช้งานด้านต่าง ๆ 

พลังงานสะอาด

การเดินทางของ LNG จากแหล่งผลิตสู่ปลายทาง

การขนส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตส่วนใหญ่จะใช้ระบบท่อ ในระยะทางไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร แต่ถ้าหากไกลเกินกว่านี้ เช่น การขนส่งก๊าซระหว่างประเทศ ต้องวางท่อส่งก๊าซใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงเปลี่ยนมาเป็นใช้เรือในการขนส่งแทน โดยการเปลี่ยนสถานะก๊าซให้เป็นของเหลวเพื่อลดปริมาตร ลดต้นทุน และสะดวกกับการขนส่ง ซึ่งมี 4 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

1. ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิต

ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานฟอสซิลที่ถูกค้นพบได้ในแอ่งใต้พื้นดิน บนบก ในทะเล หรืออาจพบร่วมกับน้ำมันดิบ เมื่อขุดเจาะขึ้นมาแล้วจะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที

2. แปรสภาพก๊าซเป็นของเหลว

ผ่านกระบวนการคัดแยกสิ่งแปลกปลอมและองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วลดอุณหภูมิลงให้เหลือ -160 องศาเซลเซียส เพื่อลดปริมาตรและแปรสภาพให้กลายเป็นของเหลว ก่อนบรรจุใส่ถังลงในเรือขนาดใหญ่ เพื่อขนส่งต่อไป

3. การขนส่งก๊าซเหลว

หลังจากที่ก๊าซได้เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวแล้ว ก็พร้อมที่จะถ่ายลงเรือขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาพิเศษ มีถังบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งมีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี และมีระบบจัดการกับก๊าซส่วนเกินเพื่อรักษาความดันและอุณหภูมิให้คงสถานะของเหลวไว้ตลอดทางได้ ซึ่งเรือที่ใช้ขนส่งมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ เมมเบรน (Membrane Type) มอสส์ (Moss Type) และเอสพีบี (Self Supporting Prismatic Shape IMO type B - SPB)

4. จัดเก็บที่ปลายทาง

เมื่อถึงท่าเรือรับก๊าซ (LNG Receiving Terminal) ก๊าซธรรมชาติเหลวก็จะถูกถ่ายจากเรือสู่ถังกักเก็บ แล้วส่งเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพกลับเป็นก๊าซอีกครั้ง โดยการถ่ายเทความร้อนจากการผ่านท่อน้ำทะเล ก่อนส่งไปยังผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไป เช่น ผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงสถานีบริการ NGV ด้วย

ท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติเหลว

LNG ก๊าซธรรมชาติ นำไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ใช้ในไทยหลัก ๆ จะได้มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ในสัดส่วนประมาณ 13% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ และนำมาผสมกับก๊าซที่เราจัดหาได้ในประเทศ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งกว่า 60% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมดใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งก็คือ NGV นั่นเอง

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลว

และทั้งหมดนี้ก็คือ เส้นทางของ LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลว พลังงานสำคัญของคนไทย ที่นอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายแล้ว ยังเป็นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกต่ำ สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ แถมยังรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
LNG ก๊าซธรรมชาติเหลว : การเดินทางของพลังงานสะอาดมากประโยชน์ จากฟอสซิลสู่เชื้อเพลิง อัปเดตล่าสุด 17 ธันวาคม 2563 เวลา 08:57:21 9,259 อ่าน
TOP