x close

แบงก์ชาติ สยบดราม่าแบงก์ใหม่ที่ระลึก รับไม่มี EURion แต่ปลอมยาก-ยังฝากกับตู้ไม่ได้

          ธนาคารแห่งประเทศไทย แจงดราม่า ธนบัตรที่ระลึก ครบรอบ 1 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ยันมีเทคโนโลยีขั้นสูงป้องกันการปลอมแปลง ผลิตมาเพียง 1.2% ของธนบัตรทั้งหมด เพื่อสะสมเป็นที่ระลึก แต่สามารถใช้จ่ายได้ปกติ ใส่ตู้ ATM เพื่อคนที่ต้องการเข้าถึงได้ง่าย

ธนบัตรใหม่

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ออกใช้ โดยเป็นวันครบ 1 ปี ของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มี 2 ชนิดราคา คือ 1,000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ และ 100 บาท จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ ซึ่งธนบัตรชนิด 100 บาทนั้นมีความใกล้เคียงกับธนบัตร 1,000 บาท ปกติ จนทำให้หลายคนเกิดความสับสนในการใช้งาน

          อ่านข่าว : เริ่มใช้แล้ว ! ธนบัตรที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

ธนบัตรใหม่

          ล่าสุด วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงบางอย่างที่ยังคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ว่า

          1. ธนบัตรที่ไม่มี EURion (ยูไรอัน) ไม่ได้หมายความว่าจะถูกปลอมแปลงได้ง่าย EURion เป็นหนึ่งในรูปแบบของการป้องกันการคัดลอกจากเครื่องถ่ายเอกสาร หรือการสแกน แต่ไม่ใช่รูปแบบที่จำเป็นหรือสำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันการผลิตเพื่อปลอมแปลง ซึ่งหลายประเทศก็ไม่ได้นำมาใช้ แต่เน้นที่การให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง เพื่อให้ประชาชนสังเกตได้ง่ายและปลอมแปลงได้ยาก

          สำหรับธนบัตรที่ระลึกที่ผลิตในครั้งนี้ มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในหลายจุด และยังคงนำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงมาใช้เช่นเดิม ไม่สามารถปลอมให้เหมือนธนบัตรจริงได้ ประชาชนสามารถสังเกตความแตกต่างได้ทันทีว่าเป็นธนบัตรปลอมด้วยวิธีการ ดังนี้

ธนบัตรใหม่

          - สัมผัสความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตร และคำว่ารัฐบาลไทย

          - ยกส่องลายน้ำที่อยู่ในเนื้อกระดาษ ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท จะมองเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ และธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท จะเห็นลายน้ำอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.

          - พลิกเอียงเห็นแถบสีม่วงแดงที่ด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท สามารถเลื่อนขึ้น-ลงและเปลี่ยนสลับเป็นสีเขียว รวมทั้งภายในลายดอกพิกุลของธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท มีรูปวงกลมเคลื่อนไหวได้รอบทิศทางและเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว

          2. ธนบัตรที่ออกโดย ธปท. สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงสามารถใช้ธนบัตรที่ระลึกทำธุรกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้เหมือนธนบัตรทั่วไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย โดยในช่วงแรก ร้านค้ารวมถึงผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงิน อาจยังไม่คุ้นเคยเนื่องจากเป็นธนบัตรรูปแบบใหม่ แต่ต่อมาก็มีการประกาศว่ารับชำระด้วยธนบัตรที่ระลึกดังกล่าวแล้ว

          3. ธนบัตรที่ระลึกใหม่มีเงินทุนสำรองฯ หนุนหลังครบถ้วน 100% โดยปัจจุบันธนบัตรหมุนเวียน รวมธนบัตรที่ระลึกทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนบัตรที่ระลึกในครั้งนี้ มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของปริมาณธนบัตรหมุนเวียนทั้งหมด

          4. การออกธนบัตรที่ระลึก ไม่นับเป็นการทำ QE (Quantitative Easing) ของ ธปท. การออกธนบัตรหมุนเวียน รวมทั้งธนบัตรที่ระลึก เป็นการทำหน้าที่ของ ธปท. ในการบริหารจัดการธนบัตรให้มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน ธปท. ไม่สามารถเพิ่มปริมาณธนบัตรออกใช้ได้หากไม่มีความต้องการเบิกถอนเงินสด ส่วนการทำ QE ในต่างประเทศนั้น เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านบัญชีของสถาบันการเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับการนำธนบัตรออกใช้แต่อย่างใด

          5. จำนวนธนบัตรที่ระลึกที่ออกมาเพื่อเก็บสะสมมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนบัตรหมุนเวียนปกติ จึงบรรจุในตู้ ATM ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องไปเข้าแถวเพื่อขอแลกที่สาขาธนาคารพาณิชย์


          6. ธนบัตรที่ระลึกใช้กับเครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ได้ เพราะต้องมีการแก้ไขโปรแกรมที่เครื่องฝากเงินอัตโนมัติทั่วประเทศ ซึ่งปริมาณธนบัตรที่ระลึกมีน้อยกว่า 1.2% ของธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั้งหมด หากประชาชนต้องการแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ระลึกเป็นธนบัตรหมุนเวียนปกติ สามารถติดต่อขอแลกได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ธนบัตรใหม่

ธนบัตรใหม่

ธนบัตรใหม่

ธนบัตรใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบงก์ชาติ สยบดราม่าแบงก์ใหม่ที่ระลึก รับไม่มี EURion แต่ปลอมยาก-ยังฝากกับตู้ไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 เวลา 12:03:17 33,957 อ่าน
TOP