x close

สุดทึ่ง ตั๊กแตนตัวผู้ ทำไงไม่ให้โดนกิน ตอนจ้ำจี้ แต่พีคในพีค ตัวเมียมีแผน 2

 

               นักวิทยาศาสตร์ทึ่ง หลังค้นพบ ตั๊กแตนตัวผู้มีวิธีเด็ดไม่ให้โดนกินขณะผสมพันธุ์ แต่พีคยิ่งกว่า เพราะตัวเมียก็มีแผนสอง ชนิดที่ตัวผู้แทบไร้ความหมาย

 ตั๊กแตน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

              ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ล้วนต้องสืบพันธุ์ ทว่าธรรมชาตินั้นก็โหดร้าย สำหรับสัตว์บางชนิดแล้ว การผสมพันธุ์ หรือการให้กำเนิด หมายถึงความตาย โดยเฉพาะเหล่าแมลง เช่น แมงมุม หรือ ตั๊กแตน ซึ่งตัวผู้ต้องหัวขาดและตกเป็นเหยื่ออันโอชะของตัวเมียหลังจากร่วมรัก

              แต่ถึงกระนั้น เหล่าตัวผู้ก็ยอมตกเป็นเหยื่อด้วยกลไกของธรรมชาติ แต่ในบางครั้งพ่อบ้านใจกล้าก็สามารถเอาชีวิตรอดมาได้จากเซ็กส์มรณะ แล้วพวกมันทำได้อย่างไรกัน ?

              จากการรายงานของ เว็บไซต์ฟรานซ์ 24 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ระบุว่า เมื่อยามถึงคราวเกี้ยวพาราสี ตั๊กแตนตัวผู้ต่างรู้ดีว่าพวกมันกำลังเข้าไปเล่นกับไฟ เพราะตัวเมียจะกินพวกมัน เพื่อนำสารอาหารไปใช้ในการฟูมฟักตัวอ่อน

              นาธาน เบอร์เก นักกีฏวิทยา (ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง) จากมหาวิทยาลัยออกแลนด์ กล่าวว่า การผสมพันธุ์ของตั๊กแตนไม่ต่างกับการเล่นเกมเสี่ยงตายอย่าง "รัสเซียนรูเล็ต" ที่ผู้เล่นทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าจะตายเมื่อไหร่ก็ได้

              ตั๊กแตนสปริงบ็อก (springbok mantis) 1 ใน 2,000 สายพันธุ์ตั๊กแตนทั่วโลก ก็มีชะตากรรมเดียวกันกับพวกพ้องเมื่อถึงคราวเล่นรัก โดยพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของตั๊กแตนสปริงบ็อกตัวผู้ ตายขณะผสมพันธุ์กับตัวเมีย

              แล้วอีก 40 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือล่ะ ?



 ตั๊กแตน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ตั๊กแตนตัวเมีย กินตั๊กแตนตัวผู้ หลังผสมพันธุ์เสร็จ

                ในขณะที่ตั๊กแตนตัวผู้สายพันธุ์อื่นจะหากลยุทธ์เอาชีวิตรอดด้วยการแอบย่องเข้าไปด้านหลัง หรือหาอาหารอร่อย ๆ มาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากตัวเมีย แต่จากการศึกษาวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biology Letter พบว่า ตั๊กแตนสปริงบ็อก มีวิธีการที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนั่นทำให้พวกมันเอาชีวิตรอดได้จากเซ็กส์มรณะ

                วิธีการของตั๊กแตนสปริงบ็อกคือ การโชว์เหนือและพลิกกลับมาเป็นฝ่ายคุมเกม โดยเมื่อมันรู้ตัวว่ากำลังจะถูกเด็ดหัว มันก็จะตอบโต้กลับด้วยการใช้กำลังจับตัวเมียกดลงด้วยความรุนแรง เหมือนกับเล่นมวยปล้ำ

                วิธีการนี้เป็นทั้งทริกในการผสมพันธุ์และเป็นทริกในการเอาชีวิตรอด ซี่งจากการทดลองการจับคู่ของตั๊กแตนสปริงบ็อก 52 คู่ พบว่าหัวใจสำคัญของชัยชนะคือการ "เสียบก่อนได้เปรียบ"

                ถ้าตัวเมียจู่โจมก่อน จุดจบของตัวผู้คือความตายและการถูกกัด แต่ถ้าตัวผู้เข้าโจมตีเร็วกว่า และสามารถล็อกตัวเมียด้วยขาที่เป็นซี่แหลม ๆ เหมือนฟันปลาได้ พวกมันจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 78 เปอร์เซ็นต์

                กระบวนการนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เฉลี่ยแล้วจะจบลงในระยะเวลา 13 วินาที

                "ตอนที่พบว่าตั๊กแตนตัวผู้สามารถใช้กำลังทำให้ตัวเมียบาดเจ็บขณะผสมพันธุ์ได้เนี่ย ผมยอมรับว่าทึ่งมากจริง ๆ เพราะไม่เคยพบเคยเห็นอะไรแบบนี้ในการศึกษาวิจัยตั๊กแตนมาก่อน" เบอร์เก กล่าว

                อย่างไรก็ตาม การที่ตั๊กแตนตัวผู้เป็นฝ่ายเหนือกว่าในการจับคู่ ไม่ได้หมายความว่าการผสมพันธุ์จะประสบความสำเร็จ เพราะพวกมันจะทำให้ตัวเมียได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะบริเวณท้อง

                แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งของตั๊กแตนสปริงบ็อกก็คือ หากการผสมพันธุ์ไม่สำเร็จแล้วละก็ ตั๊กแตนตัวเมียไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวผู้ก็ได้ เพราะมันสามารถโคลนนิ่งตัวเองขึ้นมาได้ หรือการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เรียกได้ว่าไม่ต้องมีผู้ชายฉันก็อยู่ได้แบบสวย ๆ และชนะอยู่ดี

                การที่ตั๊กแตนสปริงบ็อกตัวเมียมีความเชี่ยวชาญด้านการกินตัวผู้ อีกทั้งยังสามารถขยายพันธุ์ได้เอง นักวิจัยจึงตั้งคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นจะมีตัวผู้ไปทำไม ตั๊กแตนตัวผู้จะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรในธรรมชาติ ในเมื่อตัวเมียคือ strong independent women

                เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และมันจะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป โดย เบอร์เก กล่าวทิ้งท้ายว่า ใครจะคิดว่าการศึกษาเรื่องการจับคู่ของตั๊กแตนสปริงบ็อกจะนำไปสู่การค้นพบที่น่าสนใจขนาดนี้



ขอบคุณข้อมูลจาก
France 24 / AFP


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุดทึ่ง ตั๊กแตนตัวผู้ ทำไงไม่ให้โดนกิน ตอนจ้ำจี้ แต่พีคในพีค ตัวเมียมีแผน 2 อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2564 เวลา 15:24:03 28,483 อ่าน
TOP