x close

รถไฟฟ้าสายสีส้ม โดนล้มประมูล ต้องจัดประมูลใหม่ โครงการส่อล่าช้า 9 เดือน

          คณะกรรมการ ม.36 ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี รฟม. เตรียมเริ่มประมูลใหม่ เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน เทคนิค 30 คะแนน ราคา 70 คะแนน


          วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิกการประกวดราคา (ประมูล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจากมองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ที่สำคัญจะทำให้โครงการเดินต่อไปไม่สะดุด และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ รฟม. จะเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง

          ส่วนหลักเกณฑ์การประมูลจะใช้เกณฑ์เดิม หรือเกณฑ์ใหม่ยังไม่ได้มองถึงขั้นนั้น ต้องรอ รฟม. พิจารณาก่อน แต่อยากเร่งรัดกระบวนการเปิดประมูลให้รวดเร็วอยู่แล้ว ขั้นตอนการประกวดราคา บอร์ดมาตรา 36 พิจารณาแล้วจะไม่ทำให้เกิดความล่าช้า


          โครงการมีไทม์ไลน์แน่นอน อยากให้การดำเนินการโครงการภาครัฐไม่สะดุด ซึ่งพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อโครงการ อีกทั้งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการพิจารณาตัดสินของศาลปกครองได้ ทำให้ยังไม่มีแนวทางการประกวดราคา การยืนราคา ดังนั้น การเริ่มประมูลโครงการใหม่เป็นการกำหนดระยะเวลาที่ดีที่สุด

          ทั้งนี้ รฟม. จะถอนฟ้องศาลปกครอง กรณียื่นอุทธรณ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ ต้องรอให้ รฟม. พิจารณาก่อน ส่วนเอกชนมีสิทธิ์ยื่นฟ้องหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะบอร์ดมีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกประมูลเท่านั้น หลังจากนี้จะมีกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนที่ถูกต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ว่าจะดำเนินการอย่างไร

กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ?

          - หลังจากนี้ รฟม. จะเร่งออกประกาศยกเลิกทันที เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลใหม่ทั้งหมด

          - การประมูลใหม่จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกชนจากคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน

          - อย่างไรก็ตาม การล้มประมูลถือว่าสามารถทำได้ เพราะ รฟม. ได้แจ้งสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกการประมูลไว้ในเอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไว้อยู่แล้ว

การพิจารณายกเลิกประมูลโครงการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้

          - ข้อดี จะทำให้ รฟม. ไม่ต้องลุ้นผลการพิจารณาคดีของศาลปกครอง รวมถึงไม่ต้องรอลุ้นว่าเมื่อศาลฯ ตัดสินแล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรจะติดปัญหาอะไรอีกหรือไม่

          - ข้อเสีย จะทำให้การเดินหน้าโครงการฯ ช้ากว่าแผนเดิม 6-9 เดือน

          ก่อนหน้านี้ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รฟม. ได้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งได้ดังนี้

          - ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

          - ตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

          โดย รฟม. ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งในครั้งนั้นมีบริษัทยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุน 2 กลุ่ม (4 ราย) จากเอกชนที่ซื้อเอกสารข้อเสนอทั้งหมด 10 ราย ดังนี้

          1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มายื่นข้อเสนอเป็นรายแรก

          2. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย

          - บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

          - บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

          - บริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON

          ทั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามความคาดหมายที่คาดการณ์กันว่า โครงการนี้จะเป็นการประมูลที่แข่งขันกันระหว่าง 2 ขั้วคือ BEM และ BTS

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถไฟฟ้าสายสีส้ม โดนล้มประมูล ต้องจัดประมูลใหม่ โครงการส่อล่าช้า 9 เดือน โพสต์เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17:36:21 8,177 อ่าน
TOP