x close

บิวตี้บล็อกเกอร์งานงอก อังกฤษสั่งห้ามใช้ฟิลเตอร์ แต่งภาพโปรโมตเครื่องสำอาง สวยเกินจริง

 

              งานเข้าบิวตี้บล็อกเกอร์ในสหราชอาณาจักร ถูกสั่งห้ามใช้ฟิลเตอร์ในโพสต์โปรโมตเครื่องสำอาง - สกินแคร์ต่าง ๆ หลังโชว์ผลลัพธ์สวยปังเกินจริง แหกตาผู้บริโภค

ฟิลเตอร์แต่งภาพ
ภาพจาก instagram sashalouisepallari

             ในขณะที่เรามักเห็นเหล่าเซเล็บคนดัง ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายใช้ฟิลเตอร์แต่งภาพให้ดูสวยเป๊ะ ชนิดที่ไม่ว่าจะโพสต์อะไรก็ดูสวยสดไปหมด ไม่ว่าจะเป็นฉาก โทนสี งานผิวที่ดูโกลว์จนสาว ๆ หลายคนแอบอิจฉา เมคอัพสุดปังจนอยากใช้ตาม อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในสหราชอาณาจักรจะงานเข้าเสียแล้ว หลังจากที่เพิ่งมีคำสั่งห้ามใช้ฟิลเตอร์ในการโพสต์ภาพใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพื่อไม่ให้ภาพที่ออกมาดูหลอกตาเกินประสิทธิภาพที่ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทำได้จริง

             โดยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์เดอะซัน รายงานว่า องค์กร ASA (Advertising Standards Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการโฆษณาของสหราชอาณาจักร เพิ่งออกคำสั่งห้ามแบรนด์ต่าง ๆ ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์และเหล่าเซเลบทั้งหลาย ใช้ฟิลเตอร์ในการโพสต์ภาพโฆษณาเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย หากฟิลเตอร์ดังกล่าวทำให้ภาพมีผลลัพธ์ดูเกินจริง จนสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ชม

             นั่นหมายถึง อินฟลูอินเซอร์สายบิวตี้และบิวตี้บล็อกเกอร์ทั้งหลาย จะไม่สามารถใส่ฟิลเตอร์เพื่อเปลี่ยนเฉดสีหรือพื้นผิวบนภาพที่พวกเขาโพสต์เพื่อโปรโมตสินค้าใด ๆ ได้อีก และหากพบว่าใครละเมิดกฎดังกล่าว ภาพโฆษณานั้น ๆ จะถูกลบออก และห้ามมีการโพสต์อีกต่อไป

             คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้น หลังบนโซเชียลมีเดียมีการรณรงค์แคมเปญ #filterdrop เพื่อกดดันเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ให้ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาใช้ฟิลเตอร์อะไรบ้างในโพสต์ที่โปรโมตผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่าง ๆ

ฟิลเตอร์แต่งภาพ

             ด้าน ซาซ่า พัลลาริ นางแบบและช่างแต่งหน้าวัย 29 ปี ซึ่งเป็นคนริเริ่มแคมเปญนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เผยว่า เธอรู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ ASA เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และออกคำสั่งดังกล่าว โดยส่วนตัวเธอคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโพสต์ในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็มองว่าจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเรื่องการแสวงหาประโยชน์จากผู้ชม และแจ้งเตือนว่าผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีการใช้ฟิลเตอร์หรือการตัดต่อมาช่วยหรือไม่

              สำหรับการพิจารณาของ ASA พบว่าทางองค์กรได้ตรวจสอบโพสต์ในอินสตาแกรม 2 โพสต์ ที่อินฟลูเอนเซอร์ 2 รายโพสต์ลงไอจีสตอรี่ เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ทำผิวแทน และพบว่าโพสต์โฆษณาทั้ง 2 ชิ้น ทำให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะฟิลเตอร์ทำลายผลที่เกิดขึ้นจริงหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มันดูเกินจริงกว่าความสามารถของผลิตภัณฑ์

             ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าอินฟลูเอนเซอร์ในสหราชอาณาจักรจะถูกสั่งห้ามใช้ฟิลเตอร์เสียทีเดียว แต่จะห้ามใช้หากฟิลเตอร์มีการบิดเบือนหรือทำให้ผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นดูเกินจริง



ขอบคุณข้อมูลจาก thesun.co.uk











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บิวตี้บล็อกเกอร์งานงอก อังกฤษสั่งห้ามใช้ฟิลเตอร์ แต่งภาพโปรโมตเครื่องสำอาง สวยเกินจริง อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 18:07:27 10,301 อ่าน
TOP