ชาวบ้านมีนบุรีตกใจ เจอปลาปากจระเข้ปริศนา แหวกว่ายอยู่ในคลองแสนแสบ แถวมีนบุรี หวั่นปลาอื่นถูกกินเรียบ กระทบระบบนิเวศหากมีจำนวนมากขึ้น

ภาพจาก ช่อง 3
วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ช่อง 3 รายงานว่า ชาวบ้านย่านมีนบุรี พบปลาอัลลิเกเตอร์ หรือ ปลาปากจระเข้ อยู่ในคลองแสนแสบ โดยไม่ทราบว่ามาอยู่ในคลองประเทศไทยได้อย่างไร เพราะปลาชนิดนี้มักพบได้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติในทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการพบชนิดนี้ในแหล่งน้ำทำให้หลายคนกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติโดยรอบ หากมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เบื้องต้นคาดว่าอาจมีผู้นำเข้ามาแล้วนำมาปล่อยลงแหล่งน้ำ
สำหรับปลาจระเข้ ถือว่าเป็นปลาการ์ (Gar fish) ที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์ Lepisosteidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepisosteus spatula มีขนาดใหญ่ที่สุดที่บันทึกไว้คือ ยาว 2.92 เมตร หนัก 165 กิโลกรัม ถือเป็นสายพันธุ์ปลาน้ำจืดโบราณที่ติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องของขนาด และความอดทน เป็นปลากินเนื้อ เช่น ปลาขนาดใหญ่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก เป็นต้น

ภาพจาก ช่อง 3
ปลาจระเข้มีการแพร่กระจายค่อนข้างกว้างในอเมริกาเหนือ ตั้งแต่ตอนกลางไล่ไปจนถึงด้านตะวันออกของอเมริกา และสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ทั้งในสภาพน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เป็นปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับปลาปิรันย่า แต่จะไม่ทำร้ายคน มีลักษณะลำตัวกลมยาวเรียว ส่วนหัวจะเล็กลง ปากยาวคล้ายจระเข้ โคนหางด้านบนจะยาวกว่าโคนหางด้านล่างอย่างเห็นได้ชัด มีแพนหางกลมแข็งแรงคล้ายพัด มีโครงสร้างของเกล็ดที่แข็ง และสากปกคลุมลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
อุปนิสัยของปลาชนิดนี้ ค่อนข้างรักสงบ ไม่ก้าวร้าว สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงได้ ชอบอยู่รวมกัน เป็นฝูงโดยการลอยตัวอยู่บริเวณเหนือผิวน้ำนิ่ง ๆ และไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่หากปล่อยปลาชนิดนี้ลงสู่แหล่งน้ำที่ไม่ใช่ถิ่นอาศัยเดิม จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถทนอยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำ ประกอบกับเป็นปลาที่ไม่เลือกกินสิ่งมีชีวิต จึงสามารถทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้นได้ โดยปกติแล้วปลาจระเข้มีศัตรูตามธรรมชาติอยู่น้อย เมื่อเข้าสู่ระบบนิเวศใหม่ซึ่งปราศจากศัตรู ปลาชนิดนี้จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก ช่อง 3, phuketaquarium