สรยุทธ สุทัศนะจินดา พูดคุย ตัน ภาสกรนที มุมมองเรื่องการใช้ชีวิตช่วงวิกฤตโควิด จากใจคนที่ล้มมา 5 รอบ ยอมรับรอบนี้หนักสุด ยื่นคำขาด อย่ากู้นออกระบบเด็ดขาด ตอนนี้ต้องยอมรับความจริงให้ได้ ถ้าธุรกิจไม่ไหว สิ่งที่ทำได้คืออยู่เฉย ๆ ประคองตัว
จากวิกฤต โควิด-19 ที่ระบาดในไทยเป็นรอบที่ 3 ส่งผลกระทบอย่างหนักถึงเรื่องการทำมาหากิน หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไป ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอนาคตจะฟื้นตัวขึ้นมาหรือไม่นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 6 มิถุนายน 2564 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าว ไลฟ์ผ่านยูทูบแชนแนล สรยุทธ สุทัศนะจินดา พูดคุยกับ คุณตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชื่อดัง ถึงแนวคิดและที่สำคัญในการรับมือโควิด-19 มีมุมมองอย่างไร และมีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับคนที่ประกอบธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้บ้าง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 6 มิถุนายน 2564 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าว ไลฟ์ผ่านยูทูบแชนแนล สรยุทธ สุทัศนะจินดา พูดคุยกับ คุณตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชื่อดัง ถึงแนวคิดและที่สำคัญในการรับมือโควิด-19 มีมุมมองอย่างไร และมีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับคนที่ประกอบธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้บ้าง
วิกฤตโควิดกระทบทุกอาชีพ
คุณตัน มองว่า ครั้งนี้ธุรกิจยิ่งขนาดใหญ่ก็ยิ่งกระทบหนัก ขนาดกลางก็น้อยลงมา ธุรกิจขนาดเล็กอาจจะเสียหายน้อยแต่ก็หนักเพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีทุน นอกจากนี้คนไม่ได้ทำธุรกิจก็กระทบหนักเหมือนกัน คนหาเช้ากินค่ำ อาจจะไม่พอกิน ไม่พอใช้ และอาจเกิดหนี้สิน ส่วนกลุ่มที่เป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินแล้วไปสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ
กู้นอกระบบจะเกิดอะไรขึ้น
เคยไปถามแม่ค้าในตลาดเขาไปกู้มา 1,000 บาท ตอนเย็นต้องจ่ายดอกเบี้ย 200-300 บาท บางวันขายได้กำไรไม่พอใช้หนี้ ก็ต้องไปกู้เพิ่ม สุดท้ายก็ต้องหนีไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ได้ ซึ่งตนไม่สนับสนุนให้กู้เงินทั้งนอกระบบหรือในระบบ เพราะตอนนี้ค้าขายก็ไม่ดี ลดค่าเช่าเท่าไรก็ไม่พอ เพราะค่าเช่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เหมือน ค่ารถ ค่าของ แบบนี้ไม่สามารถหาเงินจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้บางวันอาจจะได้กำไร แต่หากวันไหนขาดทุนก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อกู้ปุ๊บคือหายนะแน่ แต่ถ้าไม่กู้เงิน ยอมกัดก้อนเกลือไปก่อน โอกาสผ่านวิกฤตมีเยอะ
ยกตัวอย่างตัวเอง ตอนปี 2540 ตอนนั้นกู้เงินธนาคารมาแต่เงินไม่พอก็ต้องกู้นอกระบบ ใช้บัตรเครดิตหมด ก็ใช้ต่อใบที่ 1 ใบที่ 2 ใบที่ 3 ต้องไปกู้นอกระบบมาจ่ายในระบบ ตอนนั้นก็เครียดมาก ต้องเอาตัวรอดไปทุกวัน อยากจะหลับไปสัก 10 ปี แล้วตื่นมาใหม่ สุดท้ายต้องทำใจตัดแขนตัดขาเพื่อรักษาชีวิต ขายทรัพย์สินทุกอย่าง จะฟ้องจะยึดทรัพย์ก็ยอมหมดเพื่อให้หนี้ลดลง สมมติมีหนี้ 100 ล้าน พอขายทุกอย่างให้เหลือหนี้ 50 ล้าน ก็ใช้หนี้ลดลง มีโอกาสหารายได้มาจ่ายเงินต้นได้มากขึ้น จากนั้นก็เริ่มมีกำลังใจและปลดหนี้ได้ในเวลา 2 ปี
ถ้าไม่สร้างหนี้สินแล้วจะเอาตัวรอดได้อย่างไร
คุณตัน แนะนำว่า ต้องเริ่มที่มีความเชื่อก่อนว่าทุกวิกฤตในที่สุดจะผ่านไป เน้นแค่ว่าทำอย่างไรก็ได้ที่จะเก็บชีวิต ลมหายใจ ไว้สู้ต่อไป อาจจะอดมื้อกินมื้อก็ต้องอดทนไปก่อน หากไปกู้นอกระบบแบบนั้นคือตายของแท้ เป็นหายนะ หากหลงไปกู้เงินก็เหมือนไปเป็นขี้ข้าเขา หนี้สินมันจะกัดกินไปเรื่อย ๆ ไม่ควรมองว่ากู้มาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะสุดท้ายก็จะตายเพราะหนี้ สู้วันนี้ยอมตายดีกว่า คือการยอมรับว่าไปต่อไม่ได้ เชื่อว่าต่อให้ไม่มีจะกินแต่อย่างไรก็ไม่อดตาย เพราะคนไทยมีน้ำใจ ที่สำคัญคือต้องปรับตัวใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสถานะทางการเงินให้ได้
ธุรกิจเล็ก จะประคองตัวหรือตัดใจ ?
หากคิดว่ามีความสามารถก็เลือกสู้ต่อไป แต่ถ้ารู้ว่าตามคนอื่นไม่ทัน ต่อสู้ไม่ไหว แนะนำว่าให้อยู่เฉย ๆ เพราะว่าเราอาจยังพอเหลือบ้าง ในทุกวิกฤตมีโอกาส หากหวังที่จะประสบความสำเร็จก็ต้องต่อสู้ มองให้เห็นโอกาส ไม่แน่ว่าอาจจะกลับมาสำเร็จกว่าเดิมก็ได้ และต่อให้เจ๊งแต่ไม่ได้มีหนี้สินจากการกู้นอกระบบ ก็ยังมีโอกาสฟื้นได้อยู่
ยอมรับว่าตนก็ไม่ใช่เทวดาที่จะช่วยแก้ได้ทุกปัญหา แต่ตนมีความคิดว่าตราบใดที่เรายังมีลมหายใจเท่ากับยังมีความหวัง หากไม่ยอมแพ้ก็ยังมีโอกาส แต่ถ้าเราหมดหวัง ไปกู้หนี้ กินเหล้า จะเหมือนซ้ำเติมตัวเอง มันก็จะแย่ลงไปเรื่อย ๆ
แม้โควิดอาจผ่านไป แต่วิกฤตไม่ผ่าน
วิกฤตครั้งนี้ผ่านไปได้ยากมาก ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ไม่รู้โควิดจะระบาดรอบ 4 หรือไม่ มันจะกลายพันธุ์ไหม เรื่องวิถีชีวิตของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป งานที่ทำต่อไปอาจจะไม่มีเหมือนเดิมแล้ว ยกตัวอย่าง ร้านอาหาร จากอยู่ตามห้าง เปลี่ยนเป็นสั่งมากินที่บ้าน หลังโควิดพ้นไปก็ไม่แน่ใจว่าคนจะกลับมากินที่ห้างเท่าเดิม ดังนั้นมุมคนทำธุรกิจถ้าปรับตัวไม่ได้ โควิดผ่านไปแล้ว แต่วิกฤตก็อยู่ สิ่งสำคัญต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
มองว่าธุรกิจขายของออนไลน์ เป็นการเปลี่ยนตลาดการซื้อไปแล้ว จากนี้ร้านค้าออฟไลน์จะค้าขายที่เน้นกำไรเยอะ แต่ค่าเช่าเยอะ ๆ ไม่ได้แล้ว ยกเว้นเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นจากนี้ไปคนทำธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว โดยวิกฤตโควิดเป็นเหมือนตัวเร่งให้อนาคตมาเร็วขึ้น นอกจากนี้เรื่องการประชุมก็ทำแบบออนไลน์ ธุรกิจออฟฟิศก็จะลดลง โรงแรมก็จะลดลงเพราะคนอยู่บ้าน ร้านอาหารใหญ่ ๆ จะหดตัว ห้างก็หดตัว เป็นต้น ดังนั้น อย่าคิดว่าโควิดผ่านไปแล้วจะทำแบบเดิม
คนจะตายเพราะเศรษฐกิจ มากกว่าตายเพราะโควิด
คุณสรยุทธ เผยว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำแล้วคุณตันเข้ามาเยี่ยมพูดคุย ตอนนั้นโควิดเพิ่งระบาดครั้งแรก แต่คุณตันมองแล้วว่า คนจะตายเพราะเศรษฐกิจ มากกว่าตายเพราะโควิด วันนี้คุณตัน เผยว่า ยังยืนยันคำเดิม และตอนนี้หนักกว่าเดิม คนที่ไม่มีเงินเก่าเริ่มจะหนักแล้ว เงินเยียวยาเป็นแค่การประคองชั่วคราว คงไม่สามารถช่วยเหลือได้นาน บางธุรกิจ โรงงาน เจ๊งไปแล้วก็คงกลับมาเปิดใหม่ไม่ได้
กรณีตนเองที่เปิดธุรกิจโรงแรมที่เชียงใหม่ ตอนนี้ก็ทำใจแล้ว แม้จะได้ข่าวว่าสิ้นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ แต่ก็มองว่าแม้ปลายปี 2565 คนก็จะมาพักแค่ 60-70% อาจต้องปี 2566-2567 ถึงจะกลับมาเต็ม 100 ซึ่งระหว่างนั้นสิ่งที่ต้องปรับคืออะไรไม่จำเป็นก็ต้องไม่ใช้เงิน มองในมุมที่แย่ที่สุดไว้ก่อน ขยายวิกฤตให้เห็นชัด ๆ ว่าถ้ามันแย่ที่สุดแล้วเราจะอยู่อย่างไร ตอนนี้ธุรกิจทั้งหมด เสียหายเดือนละ 20 กว่าล้าน ดังนั้นอะไรไม่จำเป็นก็ต้องชะลอไว้ก่อน
ที่ผ่านมา เคยล้มมา 5 รอบ แต่รอบนี้หนักสุด แต่ยังรับมือได้อยู่บ้าง เพราะไม่ได้ทำอะไรเกินตัว ไม่มีหนี้เยอะ ตอนนี้รักษาไว้แค่ธุรกิจที่กำลังดำเนินการ ส่วนโครงการอะไรที่จะเริ่มก็ต้องหยุดไว้หมด
ภาพจาก ชาแนล สรยุทธ สุทัศนะจินดา
มองธุรกิจ เหมือนความสัมพันธ์ อะไรที่ไม่ใช่อย่าฝืน
คุณตัน ให้ข้อคิดว่าบางคนคิดว่าถ้าเสียอะไรไปแล้วจะอยู่ไม่ได้ แต่คนเราต่อให้พ่อ แม่ ภรรยา ลูก คนที่เรารักแค่ไหนจากไป แต่สุดท้ายเราก็ยังอยู่ได้ บางทีอาจจะดีขึ้นด้วย เช่น ผู้หญิงคบสามีนิสัยไม่ดี ก็เลิก ๆ ไปหาใหม่ดีกว่าตั้งเยอะ อย่าไปจมอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ บางอย่างที่มันแย่ก็อย่าไปดันทุรังเลย โดยเฉพาะธุรกิจ มันห้ามไม่ได้ที่จะเกิดธุรกิจใหม่ ๆ มาแข่งขัน ดังนั้นจึงต้องหาทางมาเริ่มต้นใหม่
ยกตัวอย่างแม่ค้าหนึ่งรายที่มาเช่าที่ในตลาด ตอนแรกขายกุ้งอบวุ้นเส้น พอเจอโควิดก็ค้าขายไม่ได้ แต่ก็หันไปขายปลาเค็มออนไลน์ มีความสามารถในการขาย ตอนนี้ธุรกิจใหญ่กว่าเดิม 10 เท่า แถมกุ้งอบวุ้นเส้นก็ยังทำอยู่ ตอนนี้กลายเป็นมีสองธุรกิจ ถ้ายังรอแต่ตลาดเปิดคงไม่มีโอกาสได้เติบโตทางธุรกิจ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้ายังทำเหมือนเดิมจะอยู่ไม่ได้
สิ่งที่อยากฝากถึง
สรุปแล้วข้อคิดที่ได้รับจากการพูดคุยของ คุณสรยุทธ กับ คุณตัน ในครั้งนี้ คือคำแนะนำว่าอย่ายุ่งเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่างนี้ต้องอดทนผ่านวิกฤต และเริ่มคิดมองหาโอกาส อย่าไปยึดติดเกินไปจนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อยากให้ทุกคนมีความเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ อยากให้มองว่ามีคนลำบากกว่าเราเสมอ วันนี้จำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องช่วยเหลือกัน และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ขอบคุณข้อมูลจาก ชาแนล สรยุทธ สุทัศนะจินดา