ระเบียบใหม่ ! จัดการศาสนสมบัติวัด เก็บเงินสดได้ไม่เกิน 1 แสน ต้องฝากธนาคาร

 

          กฎกระทรวงดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติวัด ฉบับใหม่ วัดเก็บเงินสดจากการทำบุญไว้ที่วัดได้ไม่เกิน 100,000 บาท เกินนี้ต้องฝากธนาคาร เช่าที่วัดเกิน 3 ปี ต้องได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

 เงินทำบุญ

          วันที่ 17 มิถุนายน 2564 เดลินิวส์ รายงานว่า นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศ กฎกระทรวงการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. 2564 โดยมีด้วยกัน 12 ข้อ โดยสาระสำคัญที่มีการปรับปรุงจากกฎกระทรวงฉบับเดิมได้แก่

          ข้อ 3 กำหนดให้การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้วัดลงทะเบียนทรัพย์สินนั้นไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อต้องจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำหน่ายออกจากทะเบียน โดยระบุเหตุแห่งการจำหน่ายไว้ด้วย

          ส่วนการได้มาซึ่งที่ดินหรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายแล้ว ให้วัดในเขตกรุงเทพฯ ส่งหลักฐานการได้มาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่นให้ส่งไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้น

          ข้อ 4 ได้มีการกันที่วัดไว้สำหรับเป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
 

 เงินทำบุญ
         ข้อ 5 การให้เช่าที่วัดที่กันไว้สำหรับเป็นที่จัดประโยชน์ ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือสิ่งปลูกสร้าง ให้เจ้าอาวาสจัด ให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำทะเบียนทรัพย์สิน ที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่าหรือผู้อาศัยไว้ให้ถูกต้อง และให้วัดเก็บรักษาทะเบียนและหนังสือสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐานหรือจะฝากไว้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำหรับวัดในเขตกรุงเทพฯ หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่นก็ได้ การให้เช่า หากมีกำหนดระยะเวลาเกิน 3 ปี จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
        
          ข้อ 6 การให้เช่าที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เพื่อเป็นทางเข้าออกไม่ว่าจะมีกำหนดระยะเวลากี่ปีก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม โดยให้วัดจัดทำเป็นสัญญาภาระจำยอม

          ข้อ 7 การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 100,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคารในนามของวัด หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด การดูแลรักษาและจัดการเงินการกุศลที่มีผู้บริจาค ให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริจาค

          ข้อ 8 ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง
    
          ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า กฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการปกป้องผลประโยชน์ให้กับวัด หากจะทำสัญญาเช่านานกว่า 3 ปี ต้องทำเรื่องขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ส่วนเรื่องการเก็บรักษาเงินของวัดนั้นก็มีการปรับแก้จากเดิม 3,000 บาท มาเป็น 100,000 บาท โดยเงินส่วนนี้จะเป็นเงินของวัดที่มาจากการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เงินจากตู้รับบริจาคในวัด เป็นต้น ไม่เกี่ยวกับเงินส่วนตัวของพระสงฆ์ ทั้งนี้ หากเจ้าอาวาสไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว อาจมีความผิดเกี่ยวกับการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการได้

 เงินทำบุญ


ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระเบียบใหม่ ! จัดการศาสนสมบัติวัด เก็บเงินสดได้ไม่เกิน 1 แสน ต้องฝากธนาคาร โพสต์เมื่อ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 19:13:06 12,893 อ่าน
TOP
x close