หนุ่มขายสเกตบอร์ด โดนตำรวจจับ ยึดของกลางเรียบ ผิดข้อหาขายสินค้าควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก แบบนี้ก็มีด้วย แต่เมื่อเพจดังตรวจสอบข้อกฎหมาย บทบัญญัติแบบนี้มีจริง ๆ แต่หลายคนไม่รู้
วันที่ 19 มิถุนายน 2564 เฟซบุ๊ก Jakrit Jaipluem ซึ่งเป็นพ่อค้าขายสเกตบอร์ด มีการเล่าประสบการณ์การถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว เนื่องจากไม่รู้เรื่องกฎหมาย มีรายละเอียดดังนี้
ตนถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากขายสเกตบอร์ด ส่วนข้อกล่าวหาที่โดนนั้นคือ ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 16 พ.ศ. 2547 เรื่อง ให้เครื่องเล่นชนิดที่มีล้อเลื่อนเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งจากกฎหมายข้อนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถจับกุมและยึดสินค้าเราได้ทันที โดยไม่มีการตักเตือน
ดังนั้น ตนก็อยากให้เพื่อนร่วมอาชีพ ออกมาช่วยกันแก้ปัญหานี้ ทำให้มันถูกต้อง เพราะคดีแบบนี้ผิดทั้งผู้ผลิตจนถึงผู้จัดจำหน่าย ส่วนในตอนนี้ตนได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว เป็นเงินประกันที่ไม่มาก แต่ก็ต้องทำงานหนักพอสมควรกว่าจะได้มา งานนี้ทำให้เสียเงิน เสียเวลา และขึ้นศาลด้วย ของที่ยึดไปก็ขึ้นอยู่กับศาลตัดสินว่าจะได้คืนหรือไม่
เพจดังชี้แจงข้อกฎหมาย
เฟซบุ๊ก ทนายตัวแสบ:Badass Attorney มีการอธิบายเรื่องนี้ว่า สินค้าประเภทล้อเลื่อน เช่น รองเท้าสเกตที่มีล้อ, โรลเลอร์สเกต, โรลเลอร์เบลด, สเกตบอร์ด และรถสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็ก เป็นสินค้าที่เล่นแล้วมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง จึงต้องมีกฎหมายข้อนี้ออกมาบังคับ เพื่อให้คนผลิตติดสลากให้ผู้ขาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อ
ขณะเดียวกัน ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก ก็ให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ในสลาก ได้แก่
1. ข้อแนะนำการใช้ ต้องระบุดังนี้
- ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี
- การเล่นต้องใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้ง เช่น หมวกนิรภัย สนับข้อมือ สนับศอก และสนับเข่า
- ผู้เริ่มฝึกหัดต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด
- ต้องเล่นในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเล่นโดยเฉพาะ
2. คำเตือน ต้องระบุดังนี้
- ถ้าไม่ใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
- ข้อความต้องใช้ตัวอักษรสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร และติดที่ตัวสินค้า
กล่าวโดยสรุปคือ สามารถขายสินค้าประเภทนี้ได้ตามปกติ ถ้าสินค้ามีสลากข้อความที่ตัวสินค้า ส่วนกรณีคนที่ถูกจับคือเป็นเรื่องสินค้าไม่ติดฉลาก คงไม่ทราบว่ามีกฎหมายข้อนี้ ซึ่งความจริงทนายก็ไม่ทราบ แต่มีคนมาปรึกษาจึงลองค้นดู
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ กฤษฎีกา