นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศ เตรียมลุยโอลิมปิก คนถกสนั่น แม้ผ่านเกณฑ์ แต่เป็นธรรมไหม ?


           ประเด็นร้อนวงการกีฬา ลอเรล ฮับบาร์ด นักกีฬาหญิงข้ามเพศคนแรก ที่จะได้ร่วมแข่งยกน้ำหนักหญิง โอลิมปิก 2020 ท่ามกล่างเสียงวิจารณ์ ได้เปรียบว่าคนอื่นในด้านร่างกายไหม แม้ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้

Laurel Hubbard
ภาพจาก ADRIAN DENNIS / AFP

           วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน มีรายงานประเด็นร้อนจากวงการกีฬาโลก หลังจากที่ ลอเรล ฮับบาร์ด (Laurel Hubbard) นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศวัย 43 ปี กำลังจะกลายมาเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อเธอเพิ่งได้รับคัดเลือกให้ร่วมทีมชาตินิวซีแลนด์

           โดย ฮับบาร์ด จะเข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักหญิง รุ่นซูเปอร์เฮฟวี่เวท 87 กิโลกรัม ในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่ข่าวดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่ายินดีแก่ฮับบาร์ดที่ได้รับโอกาสให้ลงแข่งในการแข่งขันครั้งสำคัญ หลังจากที่เจ้าตัวเคยประสบอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขัน Commonwealth Games เมื่อปี 2561 จนต้องพักรักษาตัว

           อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ฮับบาร์ดได้รับการต้อนรับจากกลุ่มคนข้ามเพศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับนำมาสู่การตั้งคำถามเรื่องความเป็นธรรมในการแข่งขัน เพราะคนส่วนหนึ่งเชื่อว่าฮับบาร์ดที่เคยเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ของเพศชาย ตั้งแต่ก่อนจะกลายเป็นคนข้ามเพศนั้น ย่อมมีข้อได้เปรียบด้านสรีระร่างกายมากกว่าเพศหญิง แม้ว่าเธอจะผ่านคุณสมบัติที่กำหนดไว้จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็ตาม

           ฮับบาร์ดที่เพิ่งกลายเป็นหญิงข้ามเพศในปี 2555 เคยเข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการ และสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเธอกลายมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งนับจากที่ทาง IOC อนุญาตให้เธอสามารถลงแข่งขันในกีฬาประเภทหญิงได้ หลังตรวจพบปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน

Laurel Hubbard
ภาพจาก WILLIAM WEST / AFP

           ข่าวดังกล่าวทำให้มีนักกีฬายกน้ำหนักหญิงหลายคนออกมาคัดค้าน รวมถึง อันนา ฟานเบลลิงแฮม (Anna Vanbellinghen) นักยกน้ำหญิงชาวเบลเยียม ที่ยืนยันว่าแม้เธอจะสนับสนุนกลุ่มคนข้ามเพศอย่างเต็มที่ แต่สำหรับคนที่ผ่านการฝึกยกน้ำหนักในระดับสูงมาแล้วย่อมรู้ดี ว่าฮับบาร์ดยังคงมีข้อได้เปรียบด้านร่างกาย อันเป็นสถานการณ์ที่สร้างความไม่เป็นธรรมทั้งต่อกีฬาและตัวนักกีฬา

           แต่แม้จะมีความเห็นค้าน เครีน สมิธ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งนิวซีแลนด์ ยืนยันว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ฮับบาร์ดจะได้รับการคัดเลือกให้ลงแข่ง เมื่อเธอมีคุณสมบัติผ่านเกณฑืที่ทาง IOC กำหนดไว้ ทั้งนี้ทางคณะกรรมการทราบดีว่าประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน ในการรักษาตวามสมดุลระหว่างสิทธมนุษยชนและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

           อนึ่ง ตามแนวทางของ IOC ระบุไว้ว่า นักกีฬาข้ามเพศสามารถเข้าแข่งขันในประเภทหญิงได้ หากได้รับการยืนยันว่ามีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชาย อยู่ต่ำกว่า 10 นาโนโมลต่อลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนก่อนการแข่งขัน

           อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมากลับมีนักวิทยาศาสตร์บางคน ออกมาให้ข้อมูลว่า ต่อให้หญิงข้ามเพศจะมีระดับฮอร์โมนเป็นไปตามเกณฑ์ แต่ก็แทบไม่ได้ลดความได้เปรียบทางด้านร่างกาย ของนักกีฬาที่เคยเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในฐานะผู้ชายมาก่อน

ขอบคุณข้อมูลจาก เดอะการ์เดี้ยน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศ เตรียมลุยโอลิมปิก คนถกสนั่น แม้ผ่านเกณฑ์ แต่เป็นธรรมไหม ? โพสต์เมื่อ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 14:08:15 5,633 อ่าน
TOP
x close