x close

เจาะข้อกำหนดใหม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำเสนอสร้างความหวาดกลัว แม้เรื่องจริงก็ผิดได้

          iLaw วิเคราะห์ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับใหม่ กรณีเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้โพสต์เรื่องจริงก็อาจมีความผิดได้ หากเข้าข่ายทำให้ผู้คนหวาดกลัว

ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

        จากกรณีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงนามประกาศใช้โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป  

          โดยรายละเอียดของประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ที่เป็นการขยับเพิ่มมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด เช่น การสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงมาตรการปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น. ตามที่รายงานไปแล้วนั้น

          อ่านข่าว : ประกาศแล้ว เคอร์ฟิว กทม. - ปริมณฑล 3 ทุ่ม - ตี 4 จันทร์นี้ คุมเวลาเปิดร้าน ห้าง ตลาด

          ล่าสุด (12 กรกฎาคม 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ซึ่งเริ่มใช้ไปแล้วนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อ 11. มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีเนื้อหาระบุว่า

          "การนำเสนอข่าว หรือกระทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548"  

          โดยในส่วนเกี่ยวกับข้อกำหนดที่ 11. ดังกล่าว ทาง iLaw ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11. ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้

          1. การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)

          2. ที่มีข้อความอันอาจ

    2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ

    2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น


          การฝ่าฝืนข้อ 11. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใด ๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรวมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด

          นอกจากนี้ iLaw ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดฉบับล่าสุดนี้มีการปรับเปลี่ยนข้อความให้สั้นลงจากข้อกำหนดฉบับที่ 1 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยฉบับปัจจุบันมีข้อความสั้นลง โดยมีข้อแตกต่างกันที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

          1. ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว รวมทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 การเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจะเป็นความผิดต่อเมื่อเป็นข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ "ไม่เป็นความจริง" เท่านั้น

          แต่ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 เอาผิด "ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว" โดยตัดองค์ประกอบที่เคยเขียนว่า "ไม่เป็นความจริง" ออก สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้เขียนข้อกำหนดฉบับที่ 27 ว่า อาจต้องการเอาผิดกับข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง
 
          2. เพิ่มเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งก็เป็นข้อห้ามที่กว้างขวางมากอยู่แล้ว และใช้มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือคำอธิบายว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแบบใดที่ส่งผลเสียจนต้องขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก

         แต่ในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ขยายไปห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน "กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ" ด้วย

          3. ไม่ต้องตักเตือนให้แก้ไขก่อน ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 หากเจ้าหน้าที่พบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นความผิด ให้เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวก่อนได้โดยไม่ต้องดำเนินคดี หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงจึงให้ดำเนินคดี ทั้งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

           แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ตัดเนื้อหาส่วนที่ให้เจ้าหน้าที่เตือนออก แม้ว่าข้อกำหนดฉบับที่ 27 จะตัดข้อความที่ให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกด้วยแล้ว แต่การตัดสินใจดำเนินคดีตามกฎหมายใดก็เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว หากเห็นว่าการกระทำใดเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยก็ยังสามารถดำเนินคดีได้

ขอบคุณข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา, iLaw



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะข้อกำหนดใหม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำเสนอสร้างความหวาดกลัว แม้เรื่องจริงก็ผิดได้ อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:46:38 8,157 อ่าน
TOP