มันใช่เหรอ นักเลงคีย์บอร์ดจีนรุมถล่มนักกีฬา สุดขายหน้าคว้ามาได้แค่เหรียญเงิน แถมแพ้ให้กับญี่ปุ่น จนทางนักกีฬาต้องร้องไห้ขอโทษ
ภาพจาก JUNG YEON-JE / AFP
ในขณะที่นักกีฬาซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 ต้องแบกรับความกดดันจากการลงแข่งกีฬาชนิดต่าง ๆ แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกดดันที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากคนในประเทศนั้นก็หนักอึ้งไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มนักกีฬาทีมชาติจีน ที่แม้จะทำผลงานได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ ก็หนีไม่พ้นกระแสโจมตีด้วยความเดือดดาลจากโลกออนไลน์
โดยจากรายงานของ
บีบีซี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เผยให้เห็นโมเมนต์ของ หลิว ซื่อเหวิน และ ซู ซิน นักปิงปองจีน ที่ออกมาขอโทษทั้งน้ำตาหลังสามารถทำผลงานได้ดีสุดแค่การคว้าเหรียญเงินเท่านั้น เมื่อทั้งคู่ได้พ่ายแพ้ให้แก่ทีมคู่แข่งจากญี่ปุ่น ในการแข่งขันเทเบิลเทนนิส คู่ผสม รอบชิงชนะเลิศ
"ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองทำให้ทีมพ่ายแพ้ ฉันต้องขอโทษทุก ๆ คนด้วย" หลิว ซื่อเหวิน กล่าวทั้งที่มีน้ำตาเอ่อคลอและโค้งขอโทษ
ขณะที่คู่ของเธออย่าง ซู ซิน กล่าวเสริมว่า
"ทั้งประเทศกำลังตั้งหน้าตั้งตารอแมตช์สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าทีมจีนทั้งหมดคงไม่ยอมรับผลนี้"
การพ่ายแพ้แก่ทีมชาติญี่ปุ่นในรอบชิงเหรียญทอง จากกีฬาที่ปกติจีนมักเป็นผู้คว้าเหรียญทองได้นั้น ทำให้ชาวเน็ตจีนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ โดยพบว่าบนโซเชียลมีเดียอย่างเว่ยป๋อ เกรียนคีย์บอร์ดจำนวนมากต่างออกมาแสดงความเห็นถล่มนักกีฬาทั้งคู่ ตราหน้าว่าพวกเขาทำให้ประเทศชาติล้มเหลว และบางคนยังอ้างส่ง ๆ ว่าผู้ตัดสินต้องมีใจเข้าข้างญี่ปุ่นแน่ ๆ
ภาพจาก JUNG YEON-JE / AFP - ซู ซิน และ หลิว ซื่อเหวิน
ในขณะที่กระแสชาตินิยมยังแผ่ขยายไปทั่วประเทศ การได้รับเหรียญโอลิมปิกนั้นกลายเป็นมากกว่าความรุ่งโรจน์ด้านกีฬา โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสำหรับกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งนั้น การเสียเหรียญโอลิมปิกไปก็เหมือนกับการไม่รักชาติ
ด้าน ดร.ฟลอเรียน ชไนเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาในเมืองไลเดิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า สำหรับกลุ่มคนรักชาติสุดโต่งนั้น ตารางเหรียญโอลิมปิกเป็นเหมือนตัววัดความกล้าหาญและศักดิ์ศรีของชาติ ซึ่งในบริบทนี้คนที่ล้มเหลวในการแข่งขันให้แก่นักกีฬาต่างชาติ จะสร้างความผิดหวังหรืออาจจะถูกมองเป็นการทรยศต่อชาติ
การพ่ายแพ้ในการแข่งเทเบิลเทนนิส คู่ผสม ยิ่งเป็นเหมือนยาขมสำหรับจีน เพราะพวกเขาพ่ายแพ้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งร่วมกัน โดยในกลุ่มชาตินิยมของจีน แมตช์ดังกล่าวไม่ใช่แค่การแข่งขันด้านกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม กระแสโจมตีที่คล้ายกันไม่ได้มีเฉพาะแค่การแข่งเทเบิลเทนนิสกับญี่ปุ่นเท่านั้น แม้แต่ หลี่ จุนฮุย กับ หลิว ยู่เฉิน นักแบดมินตันชายของจีน ก็ตกเป็นเป้าโจมตีของชาวเน็ต หลังจากที่พวกเขาพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ แบดมินตันชายคู่ ให้แก่คู่แข่งจากไต้หวัน
โดยชาวเน็ตบางรายระบุในเว่ยป๋อว่า
"พวกนายยังไม่ตื่นหรือไง ทำไมไม่อัดความพยายามเข้าไปเลยล่ะ" กระแสโจมตีจากชาตินิยมไม่หยุดเพียงนักกีฬาที่ไม่สามารถคว้าเหรียญทองได้เท่านั้น แม้แต่ หยาง เชียน นักแม่นปืนสาวจีน ที่คว้าเหรียญทองแรกจากการแข่งขันยิงปืนยาวอัดลมระยะ 10 เมตร หญิง ก็ยังตกเป็นเป้าโจมตีของชาวเน็ตไม่ต่างกัน หลังมีคนขุดโพสต์เก่าของเธอที่เคยออกมาอวดคอลเล็กชั่นรองเท้าไนกี้ ท่ามกลางกระแสการแบนแบรนด์ดังกล่าวในจีน "ในฐานะนักกีฬาจีน ทำไมเธอถึงเก็บคอลเล็กชั่นรองเท้าไนกี้ล่ะ ไม่ใช่ว่าเธอควรเป็นคนออกโรงนำในการคว่ำบาตรไนกี้หรอกเหรอ" คอมเมนต์หนึ่งระบุ และยังมีผู้คนมากมายที่เกิดความไม่พอใจ จนสุดท้ายนักแม่นปืนสาวต้องลบโพสต์ดังกล่าวไป
ด้าน ดร.โจนาธาน ฮัสซิด ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยประจำรัฐไอโอวา ของสหรัฐฯ เผยว่า ในขณะนี้จีนมีกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความคิดแบบชาตินิยมอย่างแรงกล้าเกิดขึ้น และพวกเขาส่งเสียงได้ดังมากบนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถครอบงำเนื้อหาบนโลกออนไลน์ได้มากเกินสัดส่วนจริง ซึ่งปฏิกิริยาเดือดดาลจากคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของเสียงข้างมากในจีนแต่อย่างไร
โดยพบว่าในขณะที่บนเว่ยป๋อมีกระแสความไม่พอใจในตัวนักกีฬาเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีคนในวงกว้างที่สนับสนุนทีมชาติจีน และชี้แจงว่าคนที่ออกมาโจมตีนักกีฬานั้นช่างไร้เหตุผล โดยแม้แต่สื่อของรัฐก็ยังขอให้ประชาชนมีเหตุผลในการรับชมกีฬามากกว่านี้
ขอบคุณข้อมูลจาก
BBC