ฮือฮา คลิปสูบน้ำขึ้นท้องฟ้า คนสงสัยเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือไม่ ล่าสุด อ.เจษฎา อธิบายให้แล้วที่จริงคืออะไร เผยเหมือนนาคเล่นน้ำบนท้องฟ้า
ภาพจาก TikTok @ok19965
จากกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปจากผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง เผยภาพเหตุการณ์ขณะมีน้ำพุ่งเป็นเส้นระหว่างพื้นกับท้องฟ้าที่ จ.พัทลุง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้คนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ภาพที่เห็นคืออะไรกันแน่ เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือไม่ บ้างก็แซวว่าเทวดาสูบน้ำขึ้นไปใช้บนสวรรค์
ล่าสุด วันที่ 17 สิงหาคม 2564 รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายแล้วว่าคืออะไร ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ หรือเมฆาพิโรธแต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "พายุงวงช้าง" แบบ "นาคเล่นน้ำ" ซึ่งในไทยมีพายุงวงช้างเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวบ้าง
ภาพจาก TikTok @ok19965
พายุงวงช้าง คืออะไร
พายุงวงช้างเป็น ทอร์นาโด (tornado) ประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นรูปกรวยหรืองวงยาว ปลายด้านบนมีเมฆก้อนขนาดใหญ่ ปลายด้านล่างแตะพื้นดินหรือผืนน้ำ แต่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีเมฆฝนฟ้าคะนองแบบ ซูเปอร์เซลล์ (supercell) จึงมีความรุนแรงน้อยกว่าทอร์นาโดทั่วไป
การเกิดพายุงวงช้าง
พายุงวงช้าง เกิดจากลมเฉือนจากด้านข้างซ้าย-ขวา ในแนวระดับที่ผิวพื้นดิน ทำให้เกิดกระแสอากาศ ไหลวนขึ้นในแนวดิ่ง กระแสอากาศไหลวน ซึ่งเรียกว่า ไมโซไซโคลน (misocyclone) ซึ่งหากหมุนเร็วขึ้นก็จะแคบเข้าและยืดยาวออกไป จนด้านบนเคลื่อนเข้าสู่ฐานเมฆ ส่งผลให้เมฆเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น
ภาพจาก TikTok @ok19965
พายุงวงช้าง ที่พบในประเทศไทยมักจะเป็นแบบที่เกิดเหนือผืนน้ำ เรียกว่า วอเทอร์สเปาต์ (waterspout) ชื่อไทย คือ นาคเล่นน้ำ หรือ พวยน้ำ
นาคเล่นน้ำ ส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่ที่ยาวมากถึง 600 เมตรก็เคยพบมาแล้ว เส้นผ่านศูนย์กลางมีตั้งแต่ที่เล็กแค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลาย 10 เมตร ซึ่งอาจหมุนวนเพียงเส้นเดียวหรือหลายเส้นก็ได้ แต่ละเส้นหมุนเร็ว 20-80 เมตรต่อวินาที
กระแสลมในนาคเล่นน้ำ มักเร็วในช่วง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนที่ 3-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่เคลื่อนที่ค่อนข้างช้า ประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมักเกิดขึ้นประมาณ 2-20 นาที ก็จะสลายตัวไป แต่นานถึง 30 นาที ก็เคยพบมาแล้ว