x close

สรุป เพื่อไทย ไฟแรง แฉซื้อซิโนแวครัว ๆ กินส่วนต่าง 2,000 ล้าน งานนี้แซ่บทะลุสภา


            เพื่อไทย อภิปรายไม่แตะเบรก ขุดหลักฐานการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จัดซื้อแบบพาณิชย์ไม่ใช่ต่อรัฐต่อรัฐ สั่งซิโนแวครวดเร็ว ทีวัคซีนอื่นกว่าจะได้รอกันนาน แถมปล่อยไม้เด็ด ที่ผ่านมาฟันส่วนต่างกัน 2,000 ล้าน ล็อตใหม่อาจจะมีส่วนต่างถึง 3,000 ล้าน แถมยิ่งซื้อยิ่งแพง สะเด็ดจริงอะไรจริง ล่าสุด สธ. แจงแล้ว

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

            วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากข้อกล่าวหา การทุจริตในการจัดซื้อ วัคซีนโควิด ซิโนแวค โดยมีข้อสังเกตจุดใหญ่ที่เงินส่วนต่างของการซื้อวัคซีนซิโนแวค 1,603 ล้านบาทนั้น อยู่ที่กระเป๋าใคร ?

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

จงใจกีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่น ?


            ช่วงหนึ่ง นายประเสริฐ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ และนายอนุทิน มีความพยายามกีดกันและสั่งห้ามภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนทางเลือก โดยเมื่อปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน หอการค้าไทย 40 บริษัทซีอีโอ และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องรัฐบาลเพื่อขอนำเข้าวัคซีนทางเลือกภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล โดยใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นข้ออ้าง แม้ภายหลังจะต้านกระแสสังคมไม่ไหวก็ตาม จึงทำทีเหมือนว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนได้นำเข้าวัคซีนได้เอง แต่ก็ติดปัญหาอุปสรรคมากมาย ไทยจึงตกอยู่ในวิกฤตการขาดแคลนวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน โควิด 19 อีกทั้งยังใช้เป็นข้ออ้างในการจัดซื้อวัคซีน ซิโนแวค จนหลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์จากการจัดซื้อวัคซีนครั้งนี้

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

พิรุธการสั่งซื้อ ซิโนแวค 27 วันของถึงไทย สวนทางกับยี่ห้ออื่น


           การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นพฤติการณ์ด้วยความรวดเร็ว เร่งรีบ ซิโนแวคใช้เวลา 27 วัน ก็ถูกส่งเข้ามาถึงไทย แต่ทำไมปฏิบัติต่อวัคซีนอื่นช้าเหลือเกิน บางรายขอไปตั้งนานแล้ววันนี้ยังไม่ได้เลย ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการจัดซื้อแบบเกินความเป็นจริง

ซื้อซิโนแวค หลีกเลี่ยง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง  


           การนำเข้าวัคซีนยี่ห้อเดียว คือ ซิโนแวค ถือเป็นวัคซีนเส้นใหญ่ เลี่ยงใช้การจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมาย เพราะใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นฉากบังหน้า นอกจากนั้นยังพบว่าการจัดซื้อซิโนแวค เป็นการจัดซื้อแบบเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่การซื้อแบบรัฐต่อรัฐ แม้ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทย แต่พบว่ามีนายหน้า มีเงินทอน ทำให้การนำเข้าวัคซีนคุณภาพต่ำ เพราะไม่มีหลักฐานวิชาการอ้างอิง อีกทั้งองค์การอนามัยโลกไม่รับรอง และมีหลายหน่วยงานทักท้วงต่อการจัดซื้อวัคซีนที่ต้องมีคุณภาพ นอกจากนั้นยังพบว่า การจัดซื้อมีราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น บราซิล, อินโดนีเซีย

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

อภิปรายไม่ไว้วางใจ


ยังไม่หยุดสั่งเพิ่มทั้งที่โควิดหลายพันธุ์ พบมีเงินส่วนต่าง 2 พันล้าน ?


            ประเทศไทยมีการจัดซื้อวัคซีน ซิโนแวค แล้วทั้งสิ้น 18.5 ล้านโดส โดยทำการซื้อขายในลักษณะครั้งต่อครั้ง คือเมื่อผลิตวัคซีนได้เท่าไร ก็จะแจ้งให้องค์การเภสัชกรรมทราบ และจัดซื้อเป็นครั้งคราว โดยมิได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แต่วัคซีนมีราคาลดลงต่อเนื่องในทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อ ราคาเริ่มต้นในครั้งที่ 1 อยู่ที่ราคาโดสละ 17 เหรียญ จนกระทั่งล่าสุดการสั่งซื้อครั้งที่ 5 อยู่ที่ราคาโดสละ 9 เหรียญ   

            การจัดซื้อวัคซีน ซิโนแวค ทั้งหมดล็อตแรก ๆ อาจจะมีข้อแก้ตัวได้ว่าเป็นวัคซีนฉุกเฉิน แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ จึงควรต้องหยุดซื้อซิโนแวค แต่มีข้อพิรุธว่า กระทรวงสาธารณสุข ขออนุมัติซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 10.9 ล้านโดส ในวงเงิน 6,064.76 ล้านบาท ทั้งที่มติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ให้มีการซื้อวัคซีนอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ให้ซื้อวัคซีนซิโนแวค ยี่ห้อเดียว ทำให้พบความจริงว่าราคาจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวน 10.9 ล้านโดส นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ถึง 31 สิงหาคม 2564 มีการจัดซื้อ 3 ครั้ง และบริษัท ซิโนแวค คิดราคาค่าวัคซีนอยู่ในระหว่างราคา 14 เหรียญต่อโดส (ประมาณ 451 บาท) และต่ำสุดที่ 9 เหรียญต่อโดส (ประมาณ 290 บาท)

              ทั้งนี้เมื่อรวมราคาที่ ครม. อนุมัติ รวม 331 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท คือ 10,846 ล้านบาท แต่ราคาที่จัดซื้ออยู่ที่ 267 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 8,748 ล้านบาท
ดังนั้น ค่าส่วนต่างที่มี คือ 2,098 ล้านบาท พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องชี้แจงว่าเงินทอน หรือค่าส่วนต่างอยู่ที่ไหน พร้อมนำเอกสารมาชี้แจงต่อสภาฯ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตั้งใจโกง


อภิปรายไม่ไว้วางใจ

เดินหน้าสั่งซิโนแวคต่อ รอบใหม่อาจมีส่วนต่าง 3.1 พันล้าน ?


             และหากมีการจัดซื้อต่ออีกตามมติ ศบค. เมื่อ 16 สิงหาคม 2564 จำนวน 12 ล้านโดส ราคาโดสละ 17 เหรียญ ทั้ง ๆ ที่ราคาวัคซีนที่บริษัทขายให้จริงราคา 9 เหรียญต่อโดส จะมีผลต่างต่อโดส 8 เหรียญ คิดเป็นเงิน 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,133,440,000 บาท (สามพันหนึ่งร้อยสามสิบสามล้านสี่แสนสี่หมื่นบาท) นี่คือการหากินบนความตายของพี่น้องประชาชน เป็นการโกงแบบไร้ยางอาย ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนได้ทราบ ปิดหู ปิดตา ประชาชน

จี้ พล.อ. ประยุทธ์ - อนุทิน ลาออก


             นายประเสริฐ อภิปรายทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ตนขอกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ และนายอนุทิน จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อตำแหน่งราชการ ไม่ซื่อสัตย์  รวมถึงร่วมจัดหาจัดซื้อวัคซีนไม่โปร่งใส แสวงหาประโยชน์บนความตายและกีดกันวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ผูกขาดตัดตอนให้มีวัคซีนยี่ห้อเดียว เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้วัคซีนขาดแคลน ดังนั้นขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ และนายอนุทิน ลาออก ตามข้อเรียกร้องของประชาชน

อภิปรายไม่ไว้วางใจ


 สธ. แจงซิโนแวคมีประสิทธิภาพ มีเอกสารวิชาการยืนยัน

          ต่อมา ทวิตเตอร์ @nnthotnews ของกรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกมาระบุว่า สธ.แจงซิโนแวคมีประสิทธิภาพ มีเอกสารวิชาการยืนยันใช้เป็นสูตรไขว้ได้ภูมิสูงในเวลาสั้น ยืนยันไม่มีส่วนต่าง และที่ราคา 17 USD นั้น เป็นราคาในล็อตแรก หลังเจรจาแล้วเหลือ 8.9 USD ส่วนการสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯไม่ใช่สัญญาเสียเปรียบ เนื่องจากเป็นการซื้อก่อนวิจัยสำเร็จ

สธ. แจง เงินทอนซิโนแวค
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @nnthotnews

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป เพื่อไทย ไฟแรง แฉซื้อซิโนแวครัว ๆ กินส่วนต่าง 2,000 ล้าน งานนี้แซ่บทะลุสภา อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2564 เวลา 21:15:28 14,038 อ่าน
TOP