x close

เปิดประวัติ ทมยันตี ศิลปินแห่งชาติชั้นครู ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา

          เปิดประวัติ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา ทมยันตี นักเขียนชั้นครู ศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานวรรณกรรมเลื่องชื่อ สร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง


          ถือเป็นความสูญเสียของวงการวรรณกรรมไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี นักเขียนชื่อดังจากวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น คู่กรรม, ทวิภพ, เลือดขัตติยา เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 85 ปี ทั้งนี้ ทมยันตี นับเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 ด้วย

อ่านข่าว : วงการวรรณกรรมไทยสิ้นทมยันตี เจ้าของผลงานเด่น คู่กรรม ด้วยวัย 85 ปี



ประวัติ คุณหญิงวิมล


          คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ มีชื่อเล่นว่า อี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นบุตรีของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชาย 1 คน และมีน้องสาว 1 คน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง คุณหญิงวิมล เป็นนักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง มีนามปากกาว่า ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, วัสสิกา, มายาวดี และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555 โดยผลงานของคุณหญิงวิมลถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วหลายเรื่อง


ประวัติการศึกษา


          - ระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์
          - คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          - เป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย
          - คุณหญิงวิมลตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน
          - ในขณะศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 3 เพื่อนของเธอได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาเธอจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

          เริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์


เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519


          คุณหญิงวิมลได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 มีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน เคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ ภายหลังเหตุการณ์ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร

          - เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
          - เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
          - ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา
          - ปี พ.ศ. 2527 เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ชีวิตครอบครัว


          - คุณหญิงวิมล สมรสกับ สมัคร กล่ำเสถียร ต่อมาได้หย่าร้างกัน

          - สมรสครั้งที่ 2 กับ ร.ต.ท. ศรีวิทย์ เจียมเจริญ มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน ก่อนจะเกิดปัญหาคดีฟ้องร้องกันในปี พ.ศ. 2523 เธอถูกฟ้องหย่าและถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่น ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

          คดีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ คดีทมยันตี หรือ คดีชู้รักบันลือโลก สามีของเธอได้ฟ้องศาลและขอให้ศาลบังคับให้เธอหย่า พร้อมเรียกค่าเสียหาย ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินว่าเธอมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่นจริง ทำให้เธอแพ้คดี จึงต้องแบ่งสินสมรสกับสามี เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว วุฒิสภาได้ลงมติให้เธอต้องออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

          - ปี พ.ศ. 2548 คุณหญิงวิมลได้ฟ้อง พ.ต.อ. ศรีวิทย์ เจียมเจริญ อดีตสามี เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นคดีความยืดเยื้อกันไปถึง 3 ศาลอีกครั้งหนึ่ง


10 ผลงาน ทมยันตี ที่หลายคนต้องรู้จัก


          1. คู่กรรม

          2. ทวิภพ

          3. กษัตริยา

          4. เถ้ากุหลาบ

          5. แก้วกลางดง

          6. คำมั่นสัญญา

          7. อย่าลืมฉัน

          8. สะพานดาว

          9. สายรุ้ง

          10. ใบไม้ที่ปลิดปลิว


ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ ทมยันตี ศิลปินแห่งชาติชั้นครู ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2564 เวลา 17:31:58 18,328 อ่าน
TOP